วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

แพทย์แนะนำการดูแลดวงตาหลังอยู่ในที่มืดนานๆ



แพทย์แนะนำการดูแลดวงตาหลังอยู่ในที่มืดนานๆ
แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ แนะนำการดูแลดวงตา และการให้อาหารกับ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าที่ยังติดอยู่ภายในถ้ำหลวง
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ด้านการมองเห็นของผู้นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 12 คน พร้อมโค้ชผู้ฝึกสอนอีก 1 คน ซึ่งติดอยู่ท่ามกลางความมืดในถ้ำหลวงนาน ขอชี้แจงตามข้อมูลตามวิชาการว่า ปกติแล้วจอประสาทตาของมนุษย์จะมีเซลล์อยู่ 2 ชนิด คือชนิดที่รับแสงและรับสี เมื่อเราอยู่ในที่มือเซลล์ชนิดที่รับสีจะทำงานมากขึ้นเพื่อให้เรามองเห็นภาพในที่มืดมากขึ้น
การที่เด็กๆ อยู่ในที่ที่ไม่มีแสงนานหลายวัน เซลล์ชนิดนี้จะทำงานมากขึ้นกว่าเซลล์ชนิดรับสี เพราะฉะนั้นเมื่อนำเด็กออกมาสู่ภายนอกอาจจะรู้สึกว่ารับแสงจ้ามากไม่ได้ แต่จะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ในการปรับตัวที่เซลล์กลับมาทำงานปกติ โดยชนิดแท่งจะมีความไวลดลงให้เท่ากับปกติ และเซลล์ชนิดโคนทำงานเพิ่มขึ้น
จึงแนะนำว่าเวลานำเด็กออกมาหากไม่ปิดตาก็ควรให้สวมแว่นกันแดด และหลีกเลี่ยงการเจอแสงแดดจ้าไปสักระยะ เพราะความสามารถในการปรับตัวแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่หากดูแลสภาพทั่วไปของน้องๆ แล้วสามารถนำไปตรวจสุขภาพตาเพิ่มเติมเพื่อความสบายใจได้
ขณะที่ ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อายุรแพทย์หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังจากที่ขาดน้ำและอาหารมานาน ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากทางการแพทย์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยต้องเริ่มให้อาหารจากพลังงานน้อยๆ พร้อมกับแก้ไขภาวะการขาดเกลือแร่และวิตามิน จากการที่ร่างกายเอาไปใช้ในการสร้างพลังงานเมื่อมีการให้อาหาร และค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารที่ให้พลังงานมากขึ้นตามที่ร่างกายต้องการ

เพราะถ้าหากเริ่มให้พลังงานเยอะๆ จะเกิดการขาดเกลือแร่เช่นโพแทสเซี่ยม และ ฟอสฟอรัส รวมถึงวิตามินบี1 ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย การหายใจล้มเหลวได้
อย่างไรก็ตามในคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว การฟื้นตัวจะค่อนข้างดี โดยทั่วไปเมื่อเราให้อาหารภายใน 1 สัปดาห์ร่างกายจะเริ่มฟื้นฟูและถ้าสามารถรับสารอาหารเต็มที่ ก็จะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด