วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรคหอบหืด


โรคหอบหืด
อาการ
หอบหืดเกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของช่องทางเดินหายใจส่วนหลอดลม ทำให้อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีบตันของการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลมแท้จริงแล้วเป็นผลจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม การอักเสบส่วนใหญ่จะเป็นการอักเสบเรื้อรัง เกิดจากภาวะที่มีการตอบสนองรุนแรง
สาเหตุ
คือ การหายใจเอาสารที่แพ้เข้าไปในหลอดลมภาวะติดเชื้อ โพรงจมูกอักเสบ กลิ่นน้ำหอม ยาฆ่าแมลง กลิ่นอับ กลิ่นท่อไอเสีย กลิ่นบุหรี่ ภาวะอากาศเปลี่ยน การออกกำลังกาย โรคทางเดินอาหารบางโรค ภาวะแพ้ยา สารสี สารเคมีต่างๆ และภาวะเครียด ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดส่วนใหญ่สองในสาม จะมีภาวะภูมิแพ้ด้วย แต่ในผู้ใหญ่ต่างกันที่ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะภูมิแพ้ ความเข้าใจผิดคือ ความเข้าใจที่ว่าโรคหอบหืดเป็นผลจากภาวะแพ้เสมอไป โรคนี้เป็นกันมาก ตาม
สถิติแล้วประมาณ 10-13 % ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในเด็กชายเป็นมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย
การวินิจฉัยโรคหอบหืด
ในเด็กทั่วไปแล้วจะยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยมีอาการอื่นร่วมด้วย เด็กบางคนไม่มีอาการหอบเลยก็ได้ ส่วนใหญ่ประวัติการเจ็บป่วยของเด็กจะไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะข้อมูลได้มาจากแม่เด็ก พี่เลี้ยง ครูที่โรงเรียน หรือตัวเด็กเอง  อาการสำคัญ คือ ไอตอนเช้า กลางคืนตอนดึก ไอเวลาวิ่งเล่น หรือหลังวิ่งเล่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ร่วมด้วยในเด็กเล็กที่หอบอาจมีสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหอบหืด เช่น โรคหัวใจ โรคติดเชื้อในปอด สารแปลกปลอม ถั่ว ข้าวโพด คั่วติดในหลอดลม หรือโรคทางเดินอาหารบางชนิด การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โรคหอบหืดกำเริบ ส่วนใหญ่ของเชื้อจะเป็นไวรัสที่ติดมาจากโรงเรียน หรือที่ชุมชน เด็กจำนวนมากแพ้สารต่างๆ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา แมลงสาบ และอื่นๆ จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้แน่นอน
การรักษา
โรคหอบหืดจะต่างกันในคนไข้แต่ละคนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด เช่น ภาวะภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง
                โดยทั่วๆ ไป แนวทางรักษาที่ยอมรับโดยผู้เชี่ยวชาญมีอยู่ 4 ข้อดังนี้
แนะนำให้ใช้การตรวจสอบสมรรถภาพของปอด เพื่อ                บ่งชี้ความรุนแรงของโรค และเพื่อติดตามวัดผลการรักษา
การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ
หรือป้องกันการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมร่วมกับการใช้ยาเพื่อคลายกล้ามเนื้อรอบหลอดลมที่หดตัว
การควบคุมภาวะแวดล้อมต่างๆ                
โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีภาวะแพ้ร่วมด้วย รวมถึงการรักษา         เฉพาะเจาะจงในภาวะภูมิแพ้
ต้องให้ความรู้คนไข้และครอบครัวเกี่ยวกับโรคหอบหืด
และการปฏิบัติตน เช่น เลิกบุหรี่วิธีการออกกำลังกาย และวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง การรักษาอย่างต่อเนื่องสำคัญที่สุดในโรคหอบ      หืดคนไข้ส่วนใหญ่ หรือแพทย์ส่วนใหญ่จะมองข้ามจุดสำคัญนี้ ทำให้ผลการรักษาไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย คนไข้ก็ว่าไม่หายซักที หมอก็ว่าคนไข้ไม่รู้เรื่องไม่ทำตามคำสั่ง


ผลการรักษาที่ควรเกิดขึ้นมีดังนี้

สมรรถภาพปอดดีขึ้นคนไข้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ หรือเกือบปกติ รวมทั้งการออกกำลังกาย อาการเรื้อรังที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับคนไข้สิ้นสลายไป อาการ เช่น ไอ หายใจขัด แน่นหน้าอก ป้องกันการกำเริบของโรคได้ผลข้างเคียงจากยาควรจะไม่มี หรือมีน้อยที่สุด
ความเข้าใจที่สำคัญมาก    
คือ การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมในโรคหอบหืดนี้เป็นการอักเสบอย่างเรื้อรัง ต่อเนื่องที่กำเริบได้เป็นระยะแม้เวลาที่คนไข้รู้สึกไม่ดี ไม่มีอาการไอ หรือหอบ  ภาวะการอักเสบนี้ยังคงอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันจะพบได้ทั้งยาฉีด ยาน้ำ และยาเม็ด ทั้งรูปแบบธรรมดา และออกฤทธิ์เนิ่นนาน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทานผลข้างเคียงพบได้น้อย มีความปลอดภัยสูง


เอกสารอ้างอิง: โรงพยาบาลเซ็นทรัล ปาร์ค
                                4 / 42 ม.1 ถ. บางนา-ตราด-กม. 16 ต.บางโฉลง
                                อ.บางพลี  จ. สมุทรปราการ 10540
                        TEL . 02-3127261 -69
-->

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผักสดปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย Fresh vegetables, non-toxic, safe life.

-->
ผักสดปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย Fresh vegetables, non-toxic, safe life.
ผักสด และผลไม้สดเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเรา เป็นอาหารที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต  ช่วยรักษาสมดุลย์ของร่างกาย  ซึ่งจะทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบการขับถ่ายดีขึ้น  อย่างไรก็ตามผักสดและผลไม้ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้  ถ้าหากผักและผลไม้สดนั้นมีการปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ และสารเคมีอันตราย  แม้ในปัจจุบันจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีลง  หรือส่งเสริมให้มีการผลิตผักสด  ผลไม้ปลอดสารพิษก็ตาม  ก็ไม่ทำให้มั่นใจได้  เนื่องจากยังมีการนำสารเคมีอื่นๆ มาแช่ให้ผักสด ขาว กรอบ น่ารับประทาน
ดังนั้น  เพื่อความปลอดภัยเราควรรู้ถึงอันตราย  วิธีหลีกเลี่ยง  และการลดอันตรายดังนี้
1. อันตรายจากเชื้อโรค และพยาธิ
เนื่องจากขบวนการปลูก บางแห่งอาจใช้อุจจาระของคน  หรือสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ย  ซึ่งอาจทำให้มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ ตัวอ่อนของพยาธิ เชื้อโรคระบบทางเดินอาหารชนิดต่างๆ โดยทั่วไปผักที่มักพบไข่พยาธิ  และตัวอ่อนของพยาธิ  ได้แก่ ผักที่ใบไม่เรียบ และกลีบใบซ้อนกันมากๆ เช่น ผักกาดขาว  กะหล่ำปลี  ต้นหอม  สะระแหน่ เป็นต้น  หากบริโภคผักสดและผลไม้ที่ไม่ผ่านการล้างทำความสะอาด  จะทำให้โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง  โรคบิด  ไทฟอยต์  และพยาธิต่างๆ
2. อันตรายจากสารพิษตกค้าง
ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีทางเกษตรเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลาย  มีสารเคมีใช้กันมากมายหลายชนิด  แม้ว่าจะมีหน่วยงานควบคุมดูแลการนำไปใช้ก็ตาม  อาจจะมีผู้ใช้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี  เช่นการใช้มากเกินปริมาณที่กำหนด ใช้ร่วมกันหลายชนิด การเก็บผลผลิตก่อนระยะเวลาที่สารเคมีจะสลายตัวหมด ทำให้สารเคมีตอค้างอยู่ในผักสด  โดยเฉพาะผักที่นิยมบริโภค  ผักคะน้า  กวางตุ้ง  กะหล่ำปลี  ถั่วฝักยาว  ที่มักพบสารเคมีตกค้างอยู่เสมอ รวมทั้งอาจมีสารพิษตกค้างอยู่ในดินและน้ำที่เป็นปหล่งปลูกอีกด้วย  ซึ่งสารเคมีที่รับบางชนิดจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง  ทำให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติ  มีอาการชาตามใบหน้า ลิ้น และริมฝีปาก ชัก  สารเคมีบางชนิดอาจทำลายเอนไซม์ของระบบประสาท  ถ้าได้รับปริมาณมากจะปวดศรีษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ สั่น กระตุก เป็นต้น
3. อันตรายจากการใช้สารเคมีเติมแต่งผักและผลไม้
          เกิดจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เพื่อทำให้ผักสด ผลไม้ดูสด หรือมีสีสันขาวสะอาดน่ารับประทาน  ทั้งนี้เนื่องจากพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด ได้มีการพยายามทำให้ผักสดคงสภาพสดอยู่เสมอ ไม่เที่ยวเน่าเสีย โดยมีการนำสารเคมีประเภทฟอร์มาลีน หรือบอแรกซ์ผสมน้ำมาราดรด หรือแช่ผักสด รวมทั้งการใช้สารไฮโดรซัลเฟท์หรือโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ มาแช่ผักสด ประเภทข้าวโพดอ่อน ขิงหั่นฝอย หน่อไม้สดหั่นฝอย เพื่อทำให้มีสีขาวน่ารับประทาน ซึ่งหากล้างไม่สะอาดเหลือตกค้างในผักสด  ทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตรายได้ และการใช้สารเคมีฟอกขาวดังกล่าวกับอาหาร มีความผิดตามกฎหมาย
การหลีกเลี่ยง
การเลือกซื้อผักสดให้สะอาด  ปลอดภัยจากอันตรายของสารพิษที่ปนเปื้อนมากับผักสดที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้จักวิธีเลือกซื้อผักสดที่สะอาด ปลอดภัยไว้บริโภคดังต่อไปนี้ คือ
1. เลือกซื้อผักสดที่สะอาด  ไม่มีคราบดิน หรือคราบขาวของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อราตามใบ ซอกใบ หรือก้านผัก ไม่มีสีขาวหรือกลิ่นฉุนผิดปกติ
2. . เลือกซื้อผักสดที่มีรูพรุนเป็นรอยกัดแทะของหนอนแมลงอยู่บ้าง (ไม่ควรเลือกซื้อผักที่มีใบสวยงาม )เพราะหนอนกัดเจาะผักได้ แสดงว่ามีสารพิษกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายมาก
3. เลือกซื้อผักสดอนามัยหรือผักกางมุ้ง ตามโครงการพิเศษของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หรือแหล่งปลูกที่เชื่อถือได้อื่นๆ เช่น เลมอนกรีน เป็นต้น และสับเปลี่ยนแหล่งซื้ออยู่เสมอ
4. เลือกกินผักตามฤดูกาล เนื่องจากผักที่ปลูกได้ตามฤดูกาลจะมีโอกาสเจริญเติบโตได้ดีกว่านอกฤดูกาล ทำให้ลดการใช้สารเคมี และปุ๋ยลง
5. เลือกกินผักพื้นบ้าน เช่น ผักแว่น ผักหวาน ผักดิ้ว ผักกระโดน ใบย่านาง ใบเหลือง ใบยอ ผักกระถิน ยอดแค หรือผักที่สามารถปลูกได้เองง่ายๆ
6. ไม่กินผักชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินให้หลากหลายชนิดสับเปลี่ยนกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับพิษสะสม และได้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ
การลดพิษภัย
การล้างผักสดลดพิษภัย เพื่ออนามัยครอบครัว ในการเลือกซื้อผักสด ผลไม้ หากไม่แน่ใจว่าผักสดที่จะซื้อมาบริโภคปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การประกันสุขภาพ Health insurance

-->
การประกันสุขภาพ Health insurance ( กับโรคร้ายที่มากับ น้ำท่วม และหลังน้ำลด )
จากเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของคนไทยในช่วงที่ผ่านมา  คงไม่พ้นเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดของประเทศ  หากสิ่งที่น่าวิตกกังวลจากเหตุการณ์น้ำท่วม  นอกจากความเสียหายเรื่องทรัพย์สินแล้ว อีกสิ่งหนึ่ง คือโรคภัยต่างๆ ที่มากับน้ำ  โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางน้ำท่วมขัง  รวมทั้งการบริโภคอาหารที่ค้างหรือไม่สะอาด
ในปี พ.ศ. 2555 นี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป  ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน   และก็มีบางพื้นที่เริ่มเกิดน้ำท่วมบ้างแล้ว จากการคาดการณ์ของนักวิชาการ ออกมาพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย จะยิ่งหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านเตรียมตัวรับมือกับโรคที่มากับ น้ำท่วม และหลังน้ำลดกันหรือยัง อาทิ
1. โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
                ติดต่อได้ทุกเพศทุกวัย แพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอจาม อ่อนเพลีย  ป้องกันได้ด้วยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ มีไข้สูงเกิน 7 วันควรพบแพทย์
                2.โรคปอดบวม
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด เช่น น้ำสกปรกจนทำให้เกิดการอักเสบ อาการไข้สูง ไอมาก หอบหายใจเร็ว เห็นชายโครงบุ๋ม ริมผีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที
                3.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด แบ่งออกเป็นหลายโรค ได้แก่ โรคอุจาระร่วง อาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดและมีการอาเจียนร่วมด้วย อหิวาตกโรค จะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวทีละมากๆ อาการรุนแรง
                4.โรคไข้เลือดออก
มียุงลายเป็นพาหะพบได้ทุกวัยในทุกพื้นที่ มีอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน หน้าแดง เกิดจุดแดงๆ เล็กๆ ตามลำตัว ต่อมาไข้จะลดลง ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง มีความผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ไอปนเลือด เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
                5.โรคหัด
เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในฤดูฝน หากมีการแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ สำหรับการติดต่อผ่านทางการไอจาม เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อาการหลังจากได้รับเชื้อ 8 – 12 วัน มีไข้ ตาแดง พบจุดขาวๆ เล็กๆ ในกระพุ้งแก้ม  ป้องกันได้โดยฉีดวัคซีน หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย
                6.โรคไข้มาลาเรีย
ติดต่อโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขามีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ อาการหลังรับเชื้อ 7 – 10 วัน จะปวดศีรษะ โดยทั่วไปคล้ายไข้หวัด แต่หลังจากนั้นจะหนาวสั่นและไข้สูงตลอดเวลา อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต  ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงยุงด้วยการทายาหรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด
                7.โรคตาแดง
ติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็กแต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 วัน จะมีอาการระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ทั้งนี้ในหากดูแลถูกวิธีจะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทั้งนี้ป้องกันได้ด้วยล้างดวงตาให้สะอาดเมื่อถูกฝุ่นละออง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา
8.โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง
ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรืออับชื้นจากเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบ ป้องกันได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ
                9.โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง โดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ อาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4 – 10 วัน จะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และศีรษะมาก บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ มิเช่นนั้นอาจถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้โดยสมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ ทำความสะอาดที่พักไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู  ทั้งนี้การรักษาห้ามใช้ยาแอสไพริน และระวังไม่ให้ถูกยุงกัด
                โรคทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีใครอยากเป็น  แต่ในสถานการณ์จำยอมอย่างมหาอุทกภัยที่ผ่านมานั้น หากมีการประกันสุขภาพก็จะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย 
แหล่งที่มา วารสารสำหรับลูกค้า กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต

วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง

-->
สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง
มนุษย์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  ดังนั้น คุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจึงต้องใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองและควรถือปฏิบัติเป็นกิจกรรม  และยึดเป็นแบบแผนในการปฏิบัติ เพื่อให้มีสุขภาพดี  ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในชีวิตก็จะพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นอันดับแรก เมื่อรู้ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้เอง ก็จะแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในเรื่องความเจ็บป่วย หรือปัญหาสุขภาพก็เช่นเดียวกัน ทุกคนต้องการที่จะดูแลตนเอง ให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ดังนั้น กล่าวได้ว่า การดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งที่คนเรานั้นควรปฏิบัติดังคำที่ว่า สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง
การดูแลสุขภาพตนเอง อาจแบ่งขอบเขต เป็น 2 ลักษณะคือ
1. การดูแลสุขภาพตนเองในสภาวะปกติเป็นการดูแลสุขภาพตนเอง และสมาชิกในครอบครัว ให้มีสุขภาพแข็งแรง
    สมบูรณ์อยู่เสมอ ได้แก่
- การดูแลส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข เช่น
                - การออกกำลังกาย
                - การสร้างสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี
                - ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่
                - หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- การป้องกันโรค เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยเป็นโรค
-  เช่น การไปรับภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ
-  การไปตรวจสุขภาพ การป้องกันตนเองไม่ให้ติดโรค

2. การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้แก่ การขอคำแนะนำ แสวงหาความรู้จากผู้รู้
                เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆ ในชุมชน บุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติ หรือการรักษาเบื้องต้นให้หาย จากความเจ็บป่วย ประเมินตนเองได้ว่า เมื่อไรควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนที่จะเจ็บป่วยรุนแรง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วย และมีสุขภาพดีดังเดิม  การที่ประชาชนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้นั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง การดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วย เพื่อบำรุงรักษาตนเอง ให้สมบูรณ์แข็งแรง รู้จักที่จะป้องกันตัวเองมิให้เกิดโรค และเมื่อเจ็บป่วยก็รู้วิธีที่จะรักษาตัวเอง เบื้องต้นจนหายเป็นปกติ หรือรู้ว่า เมื่อไรต้องไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
และที่สำคัญการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้มีสุขภาพดี  แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทานโรคต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม  สำหรับเทคนิคการออกกำลังกายนั้น  อย่าผัดวันประกันพรุ่ง   อาจจะใช้เวลาวันละ 5 – 10 นาที  ทำต่อเนื่องทุกๆ วัน  ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน  ขอให้เริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อ สุขภาพดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเอง

Hospital in Thailand

-->
55หมู่4 ถ, เทพารักษ์ ต. บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ 10540
โทรศัพท์  02-1381155-64  แฟกซ์  02-1381166

contact me

foxyform.com

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เท้ามีกลิ่น...ทำลายบุคลิก

-->
เท้ามีกลิ่น...ทำลายบุคลิก

ฤดูฝนอากาศอับชื้น เท้าของคนเรามักจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย อีกทั้งเท้าเป็น "อวัยวะที่โลกลืม" จริงๆ เพราะมีน้อยคนที่จะดูแลเอาใจใส่เท้าอย่างถูกวิธีและทะนุถนอม


เท้า... ดูแลอย่างไร

การดูแลเท้าของตนเองนั้น ปฏิบัติไม่ยาก นั่นคือการเลือกสวมรองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะ แต่งานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า เด็กจำนวนมากสวมรองเท้าขนาดที่เล็กเกินไป มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงข้อมูลว่าราวครึ่งหนึ่งของเด็กหญิงวัยเรียนจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับเท้าเมื่ออายุได้ เพียง ๑๐ ขวบ พบความผิดปกติของเท้าหลายต่อหลาย อย่าง เช่น เล็บขบ เล็บผิดรูปร่าง ตาปลา หรือกระดูกคด ล้วนเกิดจากการใส่รองเท้าที่มีขนาดไม่เหมาะสมทั้งนั้น การดูแลเท้านั้นรวมไปถึงการล้างเท้าทุกวัน ยกเว้นในกรณีที่ผิวหนังเท้าแห้งและแตกอยู่แล้ว หลังจากล้างเท้าไม่ควรสวมรองเท้าและถุงเท้าทันที ควรรอให้เท้าแห้งสนิทก่อนจึงค่อยสวมรองเท้าอาจใช้ผ้าขนหนูซับเท้า หรือใช้พัดลมเป่า เพื่อให้เท้าแห้งเร็วขึ้น ทั้งนี้เพราะเท้าที่เปียกชื้นจะมีการติดเชื้อราที่เรียกว่า "ฮ่องกงฟุต"  ได้ง่าย เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมากมาย ทำให้เหงื่อออกมาก ถ้าไม่หมั่นทำความสะอาดเท้าและรองเท้าจะส่งกลิ่นตุๆ ไปได้ไกล ในขณะเดียวกันผิวหนังเท้ามีต่อมไขมันน้อย ฝ่าเท้าจึงแห้งและแตกง่าย ในกรณีนี้ต้องใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทา

เท้า...มีปัญหาอะไรบ้าง

ส้นเท้าแตก อาจต้องดูแลเท้าเป็นพิเศษระหว่างการอาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อผิวหนังนุ่มตัวจากการสัมผัสน้ำแล้ว ให้ใช้หินขัดขี้ไคลค่อยๆ ถูเท้าที่มีหนังหนาตัวขึ้นกว่าปกติ หลังจากนั้นให้ทาครีมให้ความชุ่มชื้น นวดบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า จนครีมซึมซาบเข้าไปนั่นแหละ วิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาส้นเท้าแตกได้ครับ 



เหงื่อออกมาก สำหรับเท้าที่มีเหงื่อออกมากควรใช้แป้งฝุ่นโรยก็ช่วยได้ เลือกใช้แป้งทั่วไป หรือแป้งเฉพาะ สำหรับเท้าที่เรียกว่า foot powder ก็ได้ แป้งชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแป้งฝุ่นทาตัว เพียงแต่เนื้อแป้งอาจหนากว่าและดูดซึมน้ำได้ดีกว่า การโรยแป้งทำให้ผิวที่เท้าแห้ง ไม่เฉอะแฉะ จึงลดอาการระคายเคือง และช่วยให้เกิดความรู้สึกเย็นสบาย ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวันและควรใส่รองเท้าสลับวันเว้นวัน คู่ใดไม่ได้ใส่ก็ผึ่งเสียให้แห้ง



เล็บขบ คนที่สวมรองเท้าคับเกินไปและตัดเล็บผิดวิธี มักจะเกิดเล็บขบตามมา แรกๆ เริ่มจากเล็บที่งอกขึ้นมาใหม่อาจแทงผิวหนังข้างๆ เล็บ ทำให้เกิดการอักเสบบวมแดง การตัดเล็บเท้าที่ถูกต้องคือตัดเป็นเส้นตรง


เท้ามีกลิ่น...เหม็น

นอกจากนี้ พบว่าคนไทยหลายคนเป็นโรคเท้าเหม็น (pitted keratolysis) โรคเท้าเหม็นนี้ไม่ใช่โรคใหม่ พบมานาน ๙๐ ปีแล้ว พบบ่อยที่สุดในผู้ที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำในหน้าฝน เมื่อผิวหนังชั้นขี้ไคลของฝ่าเท้าเปียกชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนองจะทำให้ผิวหนังยุ่ยและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคเท้าเหม็นพบมากในประเทศเขตร้อน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย เพราะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา อาการสำคัญของโรคนี้ที่พบบ่อยสุดถึงร้อยละ ๙๐ คือ เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก นับเป็นการทำลายบุคลิกภาพ อาการรองลงมาที่พบร้อยละ ๗๐ คือ เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยคือ ร้อยละ ๘ ลักษณะของโรคเท้าเหม็นจะเห็นเป็นหลุมเล็กๆ ที่ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ ดูคล้ายแผนที่ มักพบหลุมเหล่านี้ตามฝ่าเท้าที่รับน้ำหนัก และง่ามนิ้วเท้า ถ้าขูดผิวหนังและย้อมเชื้อจะพบเชื้อแบคทีเรียติดสีน้ำเงิน โรคนี้ดูจากลักษณะภายนอกก็บอกได้



การป้องกัน ต้องระวังให้เท้าแห้งอยู่เสมอ อาจใช้แป้งฝุ่นฆ่าเชื้อโรยบ้าง


การรักษา ยารักษาโรคสิวที่ใช้กันบ่อยคือ เบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide)  ก็นำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ผลดี นอกจากนั้นยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อราชนิดทาก็รักษาโรคเท้าเหม็นได้ พบว่าส่วนหนึ่งของคนที่เหงื่อออกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้ามาก จะมีลักษณะตื่นเต้น ตกใจง่าย วิตกกังวล และรู้สึกไม่มั่นคง บางครั้งหากเปลี่ยนอุปนิสัยให้เยือกเย็นและสงบขึ้น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าจะดีขึ้น ถ้าไม่เคยตรวจสุขภาพก็แนะนำให้ไปพบอายุรแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายทั่วไป เพราะโรคบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้เหงื่อออกมากได้ 

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 
326
นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร

โรคไต หาใช่ โรคตาย

-->
‘โรคไต’ หาใช่ ‘โรคตาย’


โรคภัยไข้เจ็บเป็นโรคที่คนทั่วไปสนใจอยากรู้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว โรคไตก็เช่นเดียวกัน มีผู้ให้ความสนใจพูดโรคไตกันต่างๆ บางครั้งทำให้เกิดภาพที่น่าสะพรึงกลัวจนบางคนได้ยินว่าโรคไตก็คิดว่าเป็น “โรคตาย” เลยทีเดียว โรคไตน่ากลัวจริงๆ อย่างนั้นเชียวหรือ ลองมาทำความรู้จักโรคไตกันดีไหม



ชนิดของโรคไต
โรคไตมีมากมายหลายชนิด บางชนิดไม่มีอาการ บางชนิดมีอาการมาก บางชนิดปฏิบัติตนให้ถูกต้องก็หายโดยไม่ต้องใช้ยา บางชนิดก็ต้องกินยาตลอดชีวิต เนื้อไตจะถูกทำลายมากน้อยแค่ไหนบอกไม่ได้แน่นอนจากอาการ แต่บอกได้จากการตรวจดูว่าเป็นโรคไตชนิดใด ดังนั้น การปฏิบัติตนและการรักษาก็ย่อมต่างกัน เพราะโรคไตบางชนิดหายเองได้ อาจกินยาหรือไม่กินยา รักษาหรือไม่รักษาก็หาย แต่ถ้านำยาที่เข้าใจว่าดีมาใช้กับโรคไตอีกชนิดหนึ่งก็จะเกิดอันตรายได้
ชนิดแรก ที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่เป็นน้อยกว่าเด็กมาก คือ โรคที่หลอดเลือดฝอยของไตอักเสบหลังการติดเชื้อที่ระบบอื่นในร่างกาย การติดเชื้อที่ระบบอื่นที่พบบ่อย คือ ที่คอ ทอนซิล และผิวหนัง ผู้ที่เป็นจะมีอาการเจ็บคออย่างมาก หรือเป็นฝีอักเสบที่ผิวหนังนำมาก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ บางครั้งอาการดังกล่าวหายไปแล้ว 2-3 วัน จึงมีอาการทางไต คือ ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะขุ่นเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อ และเริ่มบวม เมื่อตรวจร่างกาย จะพบความดันโลหิตสูงขึ้น และอาจมีน้ำและเกลือคั่งในปอดได้ ทำให้อึดอัดจนนอนไม่ลง
ในช่วงที่บวมนี้ควรต้องได้รับการรักษา และควรควบคุมอาหาร ไม่ควรกินของเค็ม โรคนี้ไตจะหายเป็นปกติได้ แต่การป้องกันก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำได้โดยที่ถ้าคอและทอนซิลอักเสบต้องรีบรักษา ส่วนทางผิวหนังป้องกันโดยไม่แกะเกาผิวหนังหรือปล่อยให้เป็นแผลสกปรก
ชนิดที่สอง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ โรคที่หลอดเลือดฝอยของไตอักเสบเช่นกัน แต่เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นจะบวมมาก บางครั้งมากกว่าชนิดแรกอีก การเปลี่ยนแปลงของเนื้อไตมีได้ต่างๆ กันหลายอย่าง แพทย์จึงมักต้องทำการตรวจเนื้อไตด้วย เพราะการรักษาและการพยากรณ์โรคต่างกัน บางชนิดหายเองได้ บางชนิดให้ยาแล้วได้ผลดี ไม่บวมพุพอง และโรคหายขาดได้ บางชนิดให้ยาแล้วไม่ได้ผล ต้องรักษาตามอาการด้วยยาขับปัสสาวะเท่านั้น
ชนิดที่สาม เป็นโรคไตที่เกิดร่วมกับโรคระบบอื่น ซึ่งมีหลายชนิดจะกล่าวถึงบางชนิดที่พบบ่อยในบ้านเราเท่านั้น คือ โรคเบาหวาน และโรคเอสแอลอี (SLE-Systemic Lupus Erythematosus)
โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่คนทั่วไปคุ้นเคยดี เมื่อเป็นเบาหวานนานๆ จะเกิดโรคที่ไตด้วย แต่ถ้าควบคุมโรคเบาหวานได้ดี การทำลายเนื้อไตจะเกิดขึ้นช้าและไม่รุนแรง ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรกินยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดแม้ไม่มีอาการในระยะแรก
ส่วนโรคเอสแอลอี เป็นโรคที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในประเทศไทยพบในเพศชายได้ไม่น้อย และมักเป็นรุนแรง นอกจากอาการบวมแล้วยังมีไข้ ปวดบวมแดง และร้อนตามข้อต่างๆ มีผื่นแดงตามตัว โดยเฉพาะที่โหนกแก้มทั้งสองข้าง ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้ไม่คัน ถูกแดดจะเห่อมากขึ้นและแสบ อาจซีด ผมร่วง และถ้าเป็นมากจะมีอาการทางสมอง หัวใจ ปอด และลำไส้ด้วย โรคนี้ควรต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต
ชนิดที่สี่ คือ โรคไตวาย ซึ่งเป็นชนิดที่คนทั่วไปเข้าใจผิด มักคิดว่าโรคไตทั้งหมดนี้ ที่จริงแล้วโรคไตวายก็ยังมีมากกว่าหนึ่งชนิด คือ โรคไตวายชนิดฉับพลัน และชนิดเรื้อรัง ซึ่งต่างกันมาก เพราะชนิดฉับพลันนั้นหายขาดได้และมักป้องกันได้ ส่วนชนิดเรื้อรังนั้นมักเป็นต่อไปจนในที่สุดไตเสียไตทั้งสองข้าง
โรคไตวายชนิดฉับพลัน จะมีอาการปัสสาวะน้อยลงทันที บวมและมีอาการจากของเสียคั่งในร่างกาย คือเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และในที่สุดจะซึมและชัก บางรายถ้าไม่รุนแรงก็ไม่ต้องการการรักษาพิเศษ เพียงแต่ควบคุมอาหารและน้ำดื่ม ไตก็ฟื้นเองในที่สุด แต่บางรายที่ไม่มีปัสสาวะนานหลายวันอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ เช่น ล้างช่องท้อง หรือทำไตเทียม สาเหตุมักเกิดจากยา สารพิษ การตกเลือด และช็อก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะยาจึงไม่ควรใช้ยาโดยไม่รู้จักยานั้นอย่างดีทั้งในด้านคุณและโทษ
โรคไตวายเรื้อรัง ในระยะแรกอาการอาจไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องควบคุมอาหารและกินยา ในระยะท้ายจะมีอาการจากของเสียคั่งในร่างกายเช่นกันและอาจมีอาการคันด้วย
การรักษาและการควบคุมอาหารและน้ำดื่มขึ้นกับระยะของโรค จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ควรทำตามอย่างผู้อื่น เพราะอาจเป็นคนละระยะกัน และการเปลี่ยนแปลงของสารกรดและเกลือในเลือดอาจแตกต่างกัน การรักษาด้วยยาจะได้ผลอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อไตเสียหมดทั้งสองข้าง ต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ



จริงหรือที่โรคไตทำให้บวม

ถ้าไม่มีอาการบวมก็เป็นโรคไตได้ ซึ่งจัดเป็นโรคไตชนิดที่สองที่กล่าวไปแล้ว คือ โรคหลอดเลือดฝอย ของไตอักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุอาจบวมหรือไม่ก็ได้ อาการที่พบ คือ มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ มีไข่ขาวในปัสสาวะหรือมีความดันโลหิตสูง พวกนี้จะทราบได้ด้วยการตรวจร่างกาย และการตรวจปัสสาวะและเลือด
โรคไตชนิดอื่นที่ไม่บวม ได้แก่ โรคติดเชื้ออักเสบที่ไต โรคไตเป็นถุงน้ำ โรคไตจากความดันโลหิตสูง และโรคนิ่วในไต
โรคติดเชื้ออักเสบที่ไต มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลัง ปัสสาวะแสบ ขัดบ่อยๆ พวกนี้ต้องรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ ส่วนใหญ่เป็นในผู้หญิง ถ้าพบในผู้ชายต้องตรวจว่าพบความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะหรือไม่
โรคไตเป็นถุงน้ำ โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์ พบทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เพศชายมักมีอาการรุนแรงและไตวายเร็วกว่า อาการที่พบมีปัสสาวะเป็นสีเลือด มีก้อนโตในท้องทั้งสองข้าง (จากไตที่โตขึ้น) ปวดหลัง และมีอาการติดเชื้ออักเสบที่ไตได้ง่าย โรคนี้ไม่มีการรักษาพิเศษ แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมความดันโลหิตให้ได้ เพื่อชะลอไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายเร็วขึ้น
โรคไตจากความดันโลหิตสูง มักไม่มีอาการ แต่จะทำให้เนื้อไตเสียไปเรื่อยๆ ทีละน้อย การปฏิบัติตนของผู้เป็นโรคนี้ คือ ควรต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการ ถ้าควบคุมความดันโลหิตให้ปกติได้ เพราะสามารถป้องกันโรคที่ไตได้
โรคนิ่วในไต ถ้าก้อนนิ่วอยู่ในเนื้อนิ่วอาจไม่มีอาการหรืออาจมีปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าก้อนนิ่วหลุดมาในท่อไตจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง และปวดร้าวไปที่หน้าขา ปัสสาวะจะเป็นสีเลือด ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดเองได้ ถ้าก้อนใหญ่อาจต้องผ่าตัดหรือทำการสลายนิ่ว ผู้ที่เป็นนิ่วควรได้รับการตรวจหาสาเหตุด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก
รายละเอียดเกี่ยวกับโรคไตยังมีอีกมาก ทั้งการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การทำไตเทียม และเปลี่ยนไต สิ่งสำคัญที่ควรทราบ คือ เมื่อไม่สบายเป็นโรคใดก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การคิดพิจารณาและปฏิบัติตามเหตุและผล กำลังใจถือแป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 
174
นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์

เบาหวานกับการออกกำลังกาย

-->
การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริมในการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน คือเป็น ๑ ใน ๓ ส่วนของการรักษา ได้แก่ การควบคุมอาหาร การรักษาด้วยยา และการออกกำลังกาย 

        การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการวิจัยจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้ ทำให้สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปใช้งานในเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ตามปกติ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ 



ผู้ป่วยเบาหวานกับการออกกำลังกาย 

        ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ เป็นเบาหวานที่ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลิน มักเกิดตั้งแต่อายุน้อยและต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน ดังนั้นถ้าขาดอินซูลินระดับน้ำตาลในเลือดจะสูง เมื่อออกกำลังกายจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น เกิดภาวะเป็นกรดจากการมีคีโตนในเลือดสูงซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 
         ถ้าฉีดอินซูลินบริเวณหน้าขาหรือแขนที่มีการเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย การดูดซึมอินซูลินจากใต้ผิวหนังจะเร็วขึ้น จึงเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ หรือถ้าออกกำลังขณะที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดอินซูลินบริเวณที่ใช้อวัยวะนั้นๆ ในการออกกำลังกาย ไม่ควรออกกำลังกายเวลาอินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด และควรตรวจระดับน้ำตาลก่อนและหลังการออกกำลังกาย
         ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒ เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน(ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลงร่วมกับการหลั่งของอินซูลินน้อยลง) การออกกำลังกายทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง (มีความไวต่ออินซูลินมากขึ้น) 
         การออกกำลังของผู้ป่วยเบาหวาน ต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยอาจมีการสูญเสียความรู้สึกที่มือและเท้า จึงทำให้เกิดบาดแผลได้ง่ายโดยเฉพาะที่บริเวณเท้า ผู้ป่วยต้องหมั่นตรวจเท้าตนเองและสวมถุงเท้าทุกครั้ง รวมถึงการเลือกรองเท้าให้มีความพอดีกับเท้าและเหมาะสมกับชนิดกีฬา ดังนั้น การป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
  
การบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ขณะออกกำลังกาย 
• การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ 
• ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ 
• บาดเจ็บของเท้าโดยเฉพาะ ถ้ามีหลอดเลือดและเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณเท้าผิดปกติ 
• มีเลือดออกในลูกตาเพิ่มขึ้น 
• มีการเสียเหงื่อ เสียน้ำ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะของผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต 
• ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือต่ำลงมากเกินไป



แนวทางออกกำลังกายอย่างปลอดภัยของผู้ป่วยเบาหวาน

• ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดจากแพทย์ เพื่อจัดโปรแกรมการออกกำลังกาย และให้คำแนะนำการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 

• ควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับการรักษาทางยา และการฉีดอินซูลินจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง 

• ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปก่อนการออกกำลังกาย 
คือไม่เกิน ๒๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร (เบาหวานชนิด ๑) และไม่เกิน ๓๐๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร
(เบาหวานชนิดที่ ๒) 
• เรียนรู้อาการ วิธีป้องกัน และแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำ เมื่อออกกำลังกาย 
• ตรวจดูเท้า ก่อน/หลัง การออกกำลังกายทุกครั้ง 
• ใส่รองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย 
• ควรออกกำลังกายสถานที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 



อาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่ วิงเวียน เหงื่อออก ตัวสั่นอ่อนเพลีย ตาพร่ามัว

         วิธีแก้ไข หยุดพักและควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด แต่ถ้าไม่สามารถตรวจเลือดได้ ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำตาลก้อน ลูกอม หรือให้ดื่มน้ำเพิ่ม

วิธีป้องกัน 

๑. ตรวจเลือด ก่อนและหลังการออกกำลังกาย 
๒. เตรียมน้ำผลไม้ หรือพกลูกอม ที่กินได้ง่าย 
๓. ถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้มีการฉีดอินซูลินลดลงประมาณร้อยละ หรือเพิ่มปริมาณอาหารและมีอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย 



ห้ามออกกำลังกรณีดังต่อไปนี้ 

๑. เบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ 

๒. ความดันโลหิตขณะพักสูงเกิน ๒๐๐/๑๐๐ มม.ปรอท 

๓. มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ยังควบคุมไม่ได้ 
๔. มีอาการเจ็บหน้าอก หรือโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังควบคุมไม่ได้ 

เลือกชนิดการออกกำลังกาย 
ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถออกกำลังได้เกือบทุกคน แต่ต้องเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสม โดยพิจารณาจาก อายุ โรคประจำตัว ความถนัด
• ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า ข้อเท้าหรือเท้าควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีแรงกระแทก เช่น การวิ่ง กระโดดเชือก ควรจะออกกำลังโดยการว่ายน้ำ เดินในน้ำ รำมวยจีน หรือทำกายบริหารในท่านั่งหรือยืน 
• ผู้ที่เป็นปลายประสาทอักเสบ มีอาการชาเท้าไม่ควรที่จะวิ่งหรือกระโดด ควรจะออกกำลังกายโดยการขี่จักรยาน เพื่อเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิตและกระตุ้นปลายประสาท
• ผู้ที่เบาหวานขึ้นตาให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่ใช้แรงต้านมาก เช่น การยกน้ำหนัก หรือโยคะบางท่า 
• ผู้ที่มีโรคหัวใจควรจะพบแพทย์ก่อนออกกำลังกาย ไม่ควรออกกำลังกายชนิดที่ออกแรงมาก เช่น การยกน้ำหนัก การวิ่งเร็ว

รูปแบบและกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม 
• ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ ๓-๕ ครั้ง ควรจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือทำต่อเนื่องครั้งละ ๒๐-๔๐ นาที   
• ควรเริ่มการออกกำลังแบบเบาก่อน และเพิ่มเป็นปานกลาง เพื่อให้ร่างกายได้มีการปรับตัว ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักหรือในรูปแบบที่มีแรงต้านมากๆ
• ควรเน้นการออกกำลังแบบแอโรบิก คือมีการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแรงกระแทก หรือแรงกระแทกต่ำ เช่น การเดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ รำมวยจีน โยคะ กายบริหาร
• ควรออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบประสาทควบคู่ไปด้วยกัน ตัวอย่างกิจกรรม เช่น กายบริหารแบบมีแรงต้านต่ำ การออกแรงดึงยางยืดเนื่องจากขณะออกแรงสายยางมีปฏิกิริยาต้านกลับ (stress reflex) ส่งผลให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อพัฒนาไปพร้อมกัน

รูปแบบและกิจกรรมการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม 
• กิจกรรมแรงกระแทกและแรงต้านสูง เช่น กระโดดเชือก วิ่งเร็ว ก้าวขึ้น-ลงสเต็ป  ยกน้ำหนัก



ขั้นตอนของการออกกำลังกายที่ถูกวิธี  ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน ดังนี้

๑. ขั้นตอนการอบอุ่นร่างกาย ใช้เวลา ๕-๑๐ นาที 

๒. ขั้นตอนการออกกำลังกาย ใช้เวลา ๑๐-๓๐ นาที  

๓. ขั้นตอนการผ่อนคลาย ใช้เวลา ๕-๑๐ นาที 
         การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะรวมอยู่ในช่วงการอบอุ่นร่างกายและช่วงการผ่อนคลาย  (หากกิจกรรมใช้เวลานานเกิน ๑ ชั่วโมง อาจเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นข้อต่อ และกล้ามเนื้อได้ง่ายควรหลีกเลี่ยง)
         การยืดเหยียดกล้ามเนื้อมีความสำคัญมากในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะข้อติดมากกว่าบุคลทั่วไป กล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในการฝึกยืดเหยียด (stretching) การฝึกยืดเหยียดที่ถูกวิธีควรปฏิบัติอย่างช้าๆ ไม่กระตุกกระชาก และให้ดีควรค้างไว้ในมุมที่ทำได้ประมาณ ๑๐ วินาที ควรยืดในทุกมัดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะมัดกล้ามเนื้อที่ใช้ออกกำลังกาย 
         นอกจากจะป้องกันข้อติดแล้วยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บ และสลายกรดแล็กติกที่คั่งค้างอยู่บริเวณกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่รู้สึกปวดเมื่อยภายหลังการออกกำลังกายหากมีการผ่อนคลาย (cool down) ที่ถูกวิธี 
         อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของผู้ป่วยเบาหวาน 
         สิ่งสำคัญคือการรู้จักตนเอง การดูแลควบคุมตนเองด้านโภชนาการ การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นสิ่งสำคัญมาก

ที่มา: 
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 
379

นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
อาจารย์ณรงค์ จันทร์หอม

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เกือบตายเพราะเหล้า

เกือบตายเพราะเหล้า
ผู้ป่วยชายรายหนึ่งอายุ 46 ปี ภรรยาและลูกนำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากเพ้อคลั่ง กินอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก เป็นมา 2 วัน
"เป็นอะไรมาครับ" หมอถาม
"แกชอบดื่มแต่เหล้า สองวันนี้อาเจียนมาก เพ้อ เอะอะโวยวาย ทานอะไรไม่ได้ค่ะ" ภรรยาตอบ
"มีไข้ไหมครับ" หมอซักต่อ
"เอ่อ.. ก็ตัวเย็นนะคะ"
"มีโรคประจำตัวอะไรไหมครับ"
"เป็นความดันโลหิตสูง แล้วก็ขาบวมค่ะ"
"มียาที่กินประจำอะไรบ้างครับ เอาติดมาด้วยหรือเปล่า"
เมื่อหมอได้ดูยาแล้วก็แน่ใจว่าเป็นยาขับปัสสาวะที่นิยมใช้กรณีที่มีอาการบวมร่วมกับความดันโลหิตสูง จากนั้นก็ตรวจร่างกายผู้ป่วย พบว่ามีภาวะคลุ้มคลั่งสับสน เนื่องจากตับแข็ง ขาดวิตามินบี 1 และเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย หรืออาจจะเกิดจากการหยุดดื่มเหล้ากะทันหัน หลังจากรักษาแล้ว วันรุ่งขึ้นก็พูดรู้เรื่องและกลับบ้านได้ในวันที่สาม หมอได้ให้คำแนะนำดังนี้
"คุณมีตับแข็งจากผลของเหล้า ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวม แต่ถ้ากินยาขับปัสสาวะเพื่อลดบวม ก็จะทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ อาจเกิดคลุ้มคลั่งสับสนได้อีก ดังนั้นต้องหยุดทำร้ายตับโดยการหยุดดื่มเหล้าและบำรุงร่างกาย แต่การที่คุณติดเหล้าจะหยุดกะทันหันไม่ได้ หมอจะให้ยากล่อมประสาทและยาควบคุมประสาทอัตโนมัติ จะช่วยไม่ให้เกิดความรู้สึกอยากดื่มจนทนไม่ไหว ลดอาการสั่นกระตุก และช่วยให้หลับได้ คาดว่าจะใช้ยาไป 1-2 สัปดาห์"
 แต่คุณจะต้องตั้งสัจจะเลยนะว่าจะไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตลอดไป จำไว้ว่าคุณจะอายุสั้นมาก หากตับคุณแข็งมากไปกว่านี้" หมอย้ำเรื่องสำคัญ
"แล้วผมจะอยู่ได้นานแค่ไหนครับ"
"ผมบอกไม่ได้ อาจจะเป็นเดือน เป็นปี หรือหลายๆ ปี ขึ้นอยู่กับว่าคุณปฏิบัติตัวดีแค่ไหน ที่สำคัญคือต้องหยุดดื่มเหล้าเพื่อไม่ให้ตับถูกทำร้ายมากขึ้น ตับของคุณอาจจะดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย แล้วต้องบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ ควรงดพวกไขมันสัตว์ ลดอาหารพวกเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินพวกถั่วต่างๆ เต้าหู้ ธัญพืช ผักสด ผลไม้สด
"ต้องหยุดทำร้ายตับโดยการหยุดดื่มเหล้าและบำรุงร่างกาย"
ผู้ป่วยก็รับฟังอย่างตั้งใจ แต่ตอนที่บอกให้เลิกเหล้านี่สิ ดูไม่ค่อยอยากจะรับปากเท่าไหร่ เมื่อพูดถึงอันตรายจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีใครกลัวเพราะผลร้ายไม่เกิดทันที แต่ผลที่ทำให้ผู้ดื่มรู้สึกดีรู้สึกสนุกเห็นผลชัดกว่า นานๆดื่มทีไม่เป็นไร แต่หากดื่มเป็นประจำก็จะเกิดโรคตับแข็ง เบาหวาน สมองเสื่อม ความดันโลหิตสูง ไตพัง ขาดสติจนเกิดอุบัติเหตุ บางคนไม่ต้องรอให้ตับแข็งก็ตายจากไข้โป้งไปก่อนแล้วเพราะไปทำความรำคาญให้ชาวบ้านเขา

หลายคนคงเคยได้เห็นหรือได้ยินการประชาสัมพันธ์ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรณรงค์ลดการดื่มเหล้า โดยมีการโฆษณาทั้งในโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ ที่ว่า "ให้เหล้า = แช่ง" ซึ่งตอนนี้เริ่มจะอยู่ในความรู้สึกของคนไทยแล้ว หลายๆ คนชักไม่กล้าที่จะให้ของขวัญกันด้วยเหล้า เพราะกลัวคนรับจะคิดมาก เลยเลี่ยงไปให้อย่างอื่นดีกว่า ถือว่าการรณรงค์นี้ได้ผลดีทีเดียว แต่ก็อยากให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อตอกย้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยอาจจะเน้นที่อันตรายของเหล้าและทำให้ดูน่ากลัวยิ่งขึ้น แล้วเป้าหมายของรัฐที่อยากให้คนไทยดื่มเหล้ากันน้อยลงก็จะเป็นจริงได้
ที่มา
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 362
-->

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาการไข้และไอ ในฤดูฝน

-->
ไข้และไอ ในฤดูฝน
         โรคภัยไข้เจ็บในฤดูฝนในบ้านเราดูจะชุกชุมกว่าฤดูอื่นๆ โดยเฉพาะทางภาคใต้ ซึ่งมีระยะฝนตกตามฤดูกาลยาวนานกว่าภาคอื่นๆ ปีหนึ่ง อาจยาวนานถึง 4-8 เดือน และฤดูฝนก็ตกหนักจริงๆ จังๆ ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ก็พบได้บ่อยบางคราวก็ตกติดต่อกัน 7 วัน 7 คืน ก็เคยมี และมันไม่ใช่ตกเปาะๆ แปะๆ แต่มันตกลงมาเหมือนฟ้ารั่วน้ำนั้นแหละ แถวระนอง ปัตตานี นราธิวาส ดูจะชุกกว่าที่อื่น ในฐานะที่บ้านเราประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่มีรายได้น้อย ความลำบากยากเข็ญในการครองชีวิต ท่ามกลางความไม่สมประกอบของระบบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การคมนาคม การสื่อสาร ยิ่งทำให้ความยากความลำบากทวีเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น โรคภัยไข้เจ็บที่พอจะหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกไม่พ้นเพราะความจำเป็นที่เกษตรกรที่ยากจนจะต้องดิ้นรนขวนขวายหาเลี้ยงตนและครอบครัวโดยไม่สามารถจะหยุดพักได้ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บให้ติดตัวไว้บ้างเพื่อการปฏิบัติตนเอง สำหรับการป้องกันโรคหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคจากมากให้น้อยลงหรือจากน้อยไม่ให้มันเป็นเลย ก็อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไปทั้งไกลหมอไกลยา
            เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บในระหว่างฤดูฝน โดยเฉพาะต้นฤดูและปลายฤดูมีมากมายและหากจะกล่าวกันโดยละเอียดก็จะยืดยาวมาก ดังนั้นในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยๆ โรคที่ค่อนข้างจะสำคัญ โรคที่เป็นปัญหาสำหรับประชาชน ส่วนใหญ่ในขณะนี้และเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นกับทุกคน เว้นโรคของเด็กโดยตรง เช่น คอตีบ ไอกรน และไข้เลือดออก ซึ่งพบมากในฤดูฝนเช่นกัน
ไข้หวัด
          ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ติดต่อกันง่ายที่สุด แม้ว่าในตัวมันเอง เป็นโรคที่ไม่มีความสำคัญอะไร ไม่เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาของประชาชนแต่อย่างใด แต่ในด้านนอกตัวของมันเอง โดยเฉพาะในเด็กและคนอายุมากๆ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อนรังประจำตัว หรือคนที่ปล่อยปละตัวเองจนเกินไป ก็อาจจะทำให้โรคที่ไม่ร้ายแรงเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องล้มหมอนนอนเสื่อ อยู่หลายๆ วัน ก่อให้เกิดภาระและการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเหมือนกัน
        ไข้หวัดตามปกติ จะหายเองภายใน 2-3 วัน โดยไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ในบางครั้งและบางคน เชื้อไวรัสชนิดนี้ อาจลุกลามเข้าไปในช่องหูภายใน ทำให้เกิดการอักเสบของประสาทหู ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน บ้านหมุน ตาลาย บางคนอาจยกหัวไม่ขึ้น จากที่นอนก็เป็นได้มันจะหมุนไปหมด อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเหล่านี้ เป็นอาการของเส้นประสาทหูอักเสบ ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อโรคอื่นๆ หรือมีสาเหตุที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดงก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดหลังการเป็นไข้หวัด 2-3 วัน (ดังที่เราเรียกกันว่า หวัดลงหู”) ซึ่งมักจะหายเองใน 3-4 วัน แต่มันสร้างความรำคาญ ทำให้ทำงานอะไรไม่ได้และบางคนกว่าจะหายอาจจะกินเวลาเป็นอาทิตย์เหมือนกัน
           โรคแทรกซ้อนที่อาจจะร้ายแรงเป็นอันตรายได้มาก คือ โรคต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ช่องหูอักเสบเป็นหนอง โรคปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ไข้หวัดใหญ่ 
          โรคนี้เป็นคนละเรื่องกับไข้หวัด เพราะ ไข้หวัดใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำมูก หรือมีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้นร่วมด้วยไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ทำให้มีอาการทั่วไปทั้งร่างกาย เกิดจากเชื้อไวรัสและจัดว่าเป็น โรคระบาดที่ร้ายแรงพอควร ติดต่อกันง่าย จากน้ำมูก น้ำลาย การใช้ภาชนะร่วมกันการอยู่ร่วมกัน มีอาการตัวร้อนจัดกะทันหันทันทีทันใด อาจมีอาการหนาวสั่นนำหน้า อยู่ประมาณ 15-20 นาที หน้าตาจะแดง หูแดง ตีนมือเย็น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวและที่สำคัญ คือ จะบอกว่าเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่บั้นเอวด้านหลังและด้านน่อง อาจมีอาการน้ำมูกไหล หรือไม่มีก็ได้ บางครั้งอาจไอมีเสมหะเหนียว และมีอาการจามร่วมไปด้วย ปกติถ้าร่างกายแข็งแรงและผู้ป่วยปฏิบัติตนเองดี โรคนี้ก็จะหายเองภายใน 3-5 วัน แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เป็นในเด็กหรือในคนแก่ หรือผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน วัณโรค หอบหืด เป็นต้น กว่าไข้หวัดใหญ่จะหายก็ใช้เวลาประมาณ 7-10 วันและอาจมีโรคแทรกซ้อนโดยเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิด โรคหลอดลมอักเสบรุนแรง และปอดบวมได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ และคนสูงอายุจึงทำให้มีอัตราการตายได้สูง
ความจริงไข้หวัดใหญ่มันเป็นโรคระบาดอ่อนๆ ในวงแคบๆ อยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งก็จะระบาดหนักและใหญ่ทั่วประเทศ หรือแม้แต่ทั่วโลกก็พบได้เสมอๆ มันเป็นโรคที่เกิดได้ทุกฤดูกาล แต่มักจะพบบ่อย หรือ ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงในฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก
การปฏิบัติดูแลรักษาตนเอง
         ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่หายได้เอง ถ้าหากทนอาการตัวร้อนปวดหัวนี้ได้ก็ไม่ต้องกินยาอะไรเลย และถ้าปฏิบัติดูแลรักษาตนเองให้ดี จะทำให้โรคหายได้เร็วไม่ทรมานมากและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ด้วย อนามัยส่วนบุคคลสำคัญมากที่สุดในการป้องกัน และรักษาโรคไข้หวัดทั้ง 2 ชนิด
1.การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรค
      ในระหว่างฤดูฝนโดยเฉพาะต้นฤดูและปลายฤดู ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอากาศและสิ่งแวดล้อมหรือในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้น ควรจะปฏิบัติตนเองดังต่อไปนี้:
    1.1 เสริมสร้างสุขภาพของตนเอง ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5-6 วัน แต่อย่าหักโหมจนเกินควร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผัก ละเว้นหรือลดสิ่งมึนเมาทุกชนิด ดื่มน้ำบริสุทธิ์ให้มากเป็นพิเศษ และพยายามนอนให้หลับให้พอ
    1.2 รักษาร่างกายให้แห้ง และอบอุ่นอยู่เสมอ ต้องระวังในการเคลื่อนย้าย ตนเองไปสู่บรรยากาศที่แปรเปลี่ยนกะทันหัน เช่น สถานที่ร้อนจัด หรือที่เย็นจัด อย่าอาบน้ำทันทีเมื่อร้อน และมีเหงื่อออกมาก หรือออกกำลังกายหรือทำงานหนักต้องสวมเสื้อนอนเสมอไปไม่ว่าอากาศจะร้อนขนาดไหน พยายามอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัดยัดเยียดจนเกินไป
2.การปฏิบัติตนเพื่อรักษาโรค
     2.1 เมื่อมีอาการไข้ ทันทีทันใด ตัวร้อนจัด คอแห้ง ปวดหัว และเมื่อยตัวโดยเฉพาะบั้นเอว และน่องให้นอนพักให้มาก ไม่ว่าจะนอนหลับหรือไม่ก็ได้ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว บ่อยๆ ดื่มน้ำบริสุทธิ์ให้มาก และรับประทานเฉพาะ อาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นม โดยให้ทานแต่น้อย แต่ให้ทานบ่อยๆ หยุดของมึนเมาทุกชนิดเด็ดขาด หยุดการออกกำลังกายทุกชนิด รักษาร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา โดยสวมเสื้อหรือห่มผ้า พอให้ร่างกายอุ่น สบาย อย่าอาบน้ำเย็น อย่ารดน้ำมนต์พ่นยาเด็ดขาด
  2.2 ถ้ามีอาการเจ็บคอมากหรือมีอาการไข้อยู่เกิน 5 วัน หรือมีอาการไอมีเสมหะเป็นก้อนสีเหลืองเขียวหรือมีกลิ่นหรืออาการเจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดหรือร่วมกันในอาการดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะส่อถึง โรคแทรกของหลอดคอ หลอดเสียง หลอดลม และเนื้อปอด หรือเยื่อหุ้มปอด จะต้องปรึกษาหมอถ้าไม่มีหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่พอจะปรึกษาได้ และไม่สามารถจะเดินทางไปพบแพทย์ที่ใดได้ภายใน 48 ชั่วโมงก็ต้องซื้อ ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ กินเองโดยกินตามขนาดและวิธีใช้ที่ระบุไว้ที่ในขวดยาแต่ควรระมัดระวังในการซื้อยากินเอง ผลเสียของยาจะได้กล่าวต่อไป
     2.3 พยายามป้องกันไม่ให้แพร่กระจายถึงผู้อื่น เช่น การใช้ผ้าปิดหน้าระหว่างไอหรือจาม บ้วนเสมหะ น้ำลายในภาชนะที่ปิดมิดชิดและทำลายได้โดย ตากแดดร้อนหรือเผาทีหลัง อย่าพยายามร่วมกันและใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกับผู้อื่น
โรคหลอดคอ กล่องเสียงอักเสบ ทอนซิลอักเสบและไซนัสอักเสบ
      มักเป็นในเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว โรคดังกล่าวมักจะเป็นโรคแทรก ของไข้หวัดธรรมดาที่ พบได้บ่อยไม่น้อย แล้วไม่ได้ระมัดระวังตนเอง ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ สูบบุหรี่จัด และพวกที่มีสุขภาพทั่วไปไม่สมบูรณ์พอ โดยปกติเยื่อบุช่องจมูกติดต่อเป็นผื่นเดียวกันกับเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนอื่นๆ ที่อยู่ลึกเข้าไป เมื่อเยื่อบุช่องจมูกเกิดอักเสบเช่น เป็นไข้หวัด การอักเสบก็จะลุกลามถึงช่องหลอดคอ กล่องเสียง หลอดลม ตามลำดับได้โดยง่าย หากผู้ป่วยไม่รู้จักระมัดระวังการใช้เสียงมาก ตะโกนเสียงดัง การไออย่างรุนแรง 
       การอยู่ในสถานที่ทำหรือสถานที่ที่แออัด ยัดเยียดที่อากาศบริสุทธิ์ถ่ายเทไม่ได้สะดวก การนอนหลับไม่พอเพียง งานหนักทั้งกายทั้งใจเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุผสมที่จะทำให้เชื้อโรค โดยมากก็เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงหรือที่เรียกว่า เชื้อหนอง มีฤทธิ์เดชแทรกซ้อนขึ้นมา และเมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดเป็น หนองเกิด ณ ที่ใด ก็จะมีอาการของอวัยวะเฉพาะที่ตรงนั้นขึ้น เช่น ถ้าการอักเสบที่ช่องคอ ก็ทำให้คอเจ็บ กลืนน้ำลายไม่สะดวก เป็นที่กล่องเสียงจะเสียงแหบแห้ง หรือถ้าเป็นที่หลอดลมใหญ่ก็ทำให้มีอาการ ไอมีเสมหะ เป็นคราบหนองเหนียวหนืด ถ้าลงไปที่ปอดก็ทำให้หายใจลำบาก เหนื่อยหอบหรือลุกลามเข้าไปใน ไซนัส ก็มีอาการปวดหัวกดเจ็บบริเวณไซนัส ตรงระหว่างตาเหนือดั้งจมูกและข้างจมูก 2 ด้าน เหล่านี้เป็นต้น
    นอกจากอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะเฉพาะที่แล้ว การอักเสบชนิดหนองยังเป็นการอักเสบรุนแรงฉับพลัน พิษของเชื้อแบคทีเรียเองอาจหลุดหรือลุกลามเข้าไปใน กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการทั่วไป หรืออาการของอวัยวะหลายๆ ระบบพร้อมกันไป เช่น ผู้ป่วยมีไข้สูง ไข้ขึ้นทันทีพร้อมกับอาการหนาวสั่นชั่วครู่ ปวดหัวมาก หูแดงตาแดง หน้าแดง ปวดเมื่อยตัว และปัสสาวะออกน้อย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเฉพาะที่ร่วมกับอาการทั่วไป ดังกล่าวมาแล้ว แสดงถึงความร้ายแรงของโรคแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย จำเป็นที่ต้องรักษาโดยใช้ ยาปฏิชีวนะ ส่วนรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป
โรคหลอดลมอักเสบ
        หลอดลมนับตั้งแต่ หลอดลมใหญ่ อันกลาง แยกต่อไปเข้าสู่ปอดซ้ายขวา จะมีเยื้อบุตลอดทั้งหมดติดต่อกันตั้งแต่ช่องจมูกจนก่อนถึงถุงลมปอด การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมทำให้เกิดการสร้างน้ำมูกเหนียวๆ ออกมามาก เรียกว่า เสมหะ ซึ่งลักษณะของความข้นเหนียว สี และจำนวนของเสมหะ จะแสดงความร้ายแรงของโรคได้เหมือนกัน หลอดลมอักเสบชนิดฉับพลัน มักจะเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ และในเด็กก็มักตามหลังไอกรน คอตีบ หัด อีสุกสีไส หรือเกิดขึ้นเองเลยก็ได้โดยเฉพาะในคนที่มีสุขภาพทั่วไปไม่สมบูรณ์ เช่น ในเด็ก ในสตรีตั้งท้อง ในคนชรา ในคนที่ออกกำลังกายทำงานจนเหนื่อยเกินกำลัง หรือถูกความหนาวเย็น ความชื้นอยู่นานๆ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน วัณโรค คนที่แพ้อากาศง่าย เป็นหอบหืดบ่อยๆ เหล่านี้เป็นต้น หลอดลมอักเสบ ทำให้มีอาการเฉพาะที่ คือ ไอรุนแรง มีเสมหะ ในทีแรกๆจะใสต่อไปจะข้น มีสีเหลืองหรือสีเขียวเป็นก้อน บางทีมีสีแดง หรือสีสนิม เหล็กผสมแสดงถึงการอักเสบลุกลามถึง หลอดเลือดในปอด
โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ หรือปอดชื้น 
      โรคนี้เป็นได้ตลอดเวลา แต่เป็นมากในฤดูฝน ในคนที่ทำงานตากฝนนานตลอดเวลา หรือในช่วงที่มีอากาศแปรปรวน เช่น ในฤดูร้อนต่อฤดูฝน ในภาคใต้ มักจะเกิดในผู้ป่วยที่ทำงานหนัก สุขภาพไม่สมบูรณ์ สูบบุหรี่และกินเหล้าจัด มักเกิดตามหลังไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัด ตามมาด้วยหลอดลมอักเสบก่อนแล้วกลายมาเป็นโรคปอดบวมที่หลัง พบในเด็กและคนชรามากกว่าวัยหนุ่มสาวมากต่อมาก
         โรคปอดอักเสบ โดยมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาศัยอยู่ในช่องทางเดินหายใจ และมีฤทธิ์เดชขึ้นมา เมื่อมีการอักเสบจากเชื้อหวัด หรือเมื่อร่างกายผู้ป่วยทรุดโทรมขาดความต้านทานโรคจากกรณีหลายๆ ประการดังได้กล่าวมาแล้ว การติดต่อของเชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปสู่ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งก็ติดต่อได้ง่ายเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ คือ จากการหายใจรดกัน จาม ไอ เอาละอองเสมหะน้ำมูกถึงกันและกัน
           อาการสำคัญเฉพาะที่ คือ อาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะปอดอักเสบนี้มักเป็นที่กรีบปอดช่วงล่าง ทำให้ลุกลามมาถึงเยื้อหุ้มปอดทำให้มีอาการปวดเจ็บเวลาหายใจ โดยเฉพาะเวลาจามหรือไอแรงๆ บางคนทำให้นอนตะแคงข้างที่เจ็บไม่ได้ อาการเฉพาะที่อีกอัน คือ อาการหอบหายใจถี่ เร็ว และตื้นกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะไอชนิดมีเสมหะ ทีแรกเสมหะจะน้อยใสค่อยๆ ทวีความข้นและเหนียว และจะเริ่มมีสีของหนองหรือสีสนิมเหล็กผสม อาการทั่วไปที่สำคัญ คือ ไข้สูงลอย ไข้ติดต่อตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยกระวนกระวาย อาการปรากฏอื่นๆก็มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น ปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นโรคหนัก รุนแรง และอาจอันตราย ถึงชีวิตได้ ซึ่งต้องทำการรักษาอย่างดีและทันท่วงที
โรคหืด หรือ หอบหืด หรือหอบเฉยๆ
       หืด เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายแพ้สารบางชนิดหรือหลายชนิด โดยเฉพาะสารโปรตีนซึ่งมีเป็นหมื่นเป็นแสนชนิด ดังนั้นทำให้หาต้นเหตุ ตัวเภทภัยที่แท้จริงได้ยาก หืดหรือหอบหืด ไม่มีเชื้อโรคจึงไม่ติดต่อกัน แต่เป็นในครอบครัวเดียวกัน สืบทอดกันทางสายเลือดหรือกรรมพันธุ์ได้ ลักษณะดูได้ง่ายคือ เวลาเป็นจะเป็นพักๆ และเป็นอย่างกะทันหัน เริ่มตั้งแต่เหนื่อยจนกระทั่งหอบ หอบจนกระทั้งตัวโยน และมีเสียงดังหืดๆ ได้ยินชัด เสียงจึงเรียกว่าหืด เวลาเป็นจะนอนราบไม่ได้ ต้องนั่งนก (นั่งสัปหงก) จนกระทั้งมันสงบลงไป แล้วก็จะเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะในฤดูฝน จะพบได้บ่อยมาก เพราะมีสาเหตุผสมจากละอองฝน ความเย็นจากไข้หวัดและอื่นๆ ที่อาจมาตามสายฝน โดยทั่วไป สาเหตุของโรคหืดมี 2 อย่าง คือ
1. แพ้สารที่มาจากภายนอก
      1.1 โดยกินเข้าไป เช่น อาหาร โดยมากพวกอาหารทะเล เช่น ปู กุ้ง ปลา แต่ที่แพ้น้อย คือ หอย พวกพืชก็มีพวกตระกูลถั่ว พวกเห็ดก็มีแพ้กันมาก
     1.2 โดยสูดดมเข้าไป เช่น ฝุ่นละออง ตามบ้าน ตามถนน เป็นต้น พืช เกสรดอกไม้ ดอกหญ้า พวกไรบ้าน แมลงสาบที่ตายแล้ว เป็นต้น
     1.3 โดยการสัมผัสไปถูกของบางอย่างเช่น สารเคมี ยาซัลฟา น้ำมันเครื่อง
2.แพ้สารที่เกิดจากภายใน
     2.1 มีโรคอักเสบเรื้อรังภายนอก เช่น พวกเชื้อราตามตัว ตามหนังหัวก็มีสารแพ้บางชนิดสร้างขึ้น
    2.2 มีโรคอักเสบเรื้อรังภายใน เช่น ฟันเป็นหนอง ถุงน้ำอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทำให้ร่างกายได้รับของเสียอยู่ตลอดเวลา
    2.3 มีเชื้อในลำไส้ ในร่างกาย เช่น พวกพยาธิต่างๆ
           โรคหืด เป็นโรคของการแพ้และจะเกิดขึ้นส่วนมากภายใน 12 โมง หลังจากถูกสารนั้นๆ จำนวนมากๆ ไม่ว่าจะกิน จะสูดดม หรือสัมผัส หรือเกิดจากสารแพ้อยู่ในร่างกายสร้างขึ้นมากในบางระยาเวลา เช่น พยาธิในท้องเกิดขับของเสียตายในลำไส้ก็ จะทำให้มีอาการหอบหืด จากสารที่พยาธินั้นผลิตออกมา
การใช้ยา
          การใช้ยาต้องระมัดระวังมาก เพราะยานั้นมีทั้งประโยชน์ และก็มีโทษมาก แต่หากจำเป็นจริง ๆสำหรับผู้ป่วยไกลหมอ ไกลสุข ศาลา และในสภาพที่เลี่ยงกับความเป็นความตาย ก็ธรรมดาที่จะต้องหาหนทางช่วยตัวเองไว้ก่อน และถ้าเราจะพอรู้อะไรไว้บ้างสักเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าปล่อยไปตามบุญตามกรรม  สำหรับไข้หวัด ไม่ต้องกินยาอะไรเลยก็ได้ ถ้าร่างกายแข็งแรงพอสมควรหรือยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ แต่อย่างน้อยก็ต้องรู้จักดูแลรักษาตนเองดังที่กล่าวไว้แล้ว
          สำหรับไข้หวัดใหญ่นั้น มันไม่เกี่ยวกับโรคหวัด เป็นโรคคนละตัวกันโรคนี้มีอาการมาก ดูเผินๆ น่ากลัวและรุนแรงพอสมควร เพราะไข้ขึ้นเร็ว ขึ้นสูง ปวดหัว และเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ทำให้ทำงานไม่ได้ กระวนกระวายมาก แต่ถ้าทนได้จริงๆ ไม่ต้องกินยาอะไร เพียงแต่ระมัดระวังปฎิบัติตนเองให้ดี ก็จะหายได้เองเสียเป็นส่วนมาก หลังจากมีไข้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง ไข้มันก็จะลดลงเป็นปกติ มีบางรายพอไข้หายแล้ว มีอาการเลื่อนลอยอ่อนเพลีย ต่อไปอีกสัก 1-2 อาทิตย์ พวกยาที่อาจจะต้องใช้ได้แก่ ยาแก้ปวดแก้เมื่อยและแก้ไขก็พอ แต่ถ้าหากไข้ยังไม่ลด หลัง 48-60 ชั่วโมงแล้ว และยังมีอาการต่างๆมากขึ้นมีไอชนิดมีเสมหะ ลักษณะเป็นก้อนเหลืองหรือเขียว มีอาการเหนื่อยหายใจเร็วหรือหอบ มีอาการเจ็บคอ กลืนไม่ลงก็แสดงว่า มีโรคแทรกซ้อนโดยมากมาจากเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีเช่นนี้ ก็ต้องเพิ่มยาปฏิชีวนะ หรือพวกยาซัลฟา ดังนั้น ไม่ว่าในโรคใด มียาสำคัญที่อาจต้องใช้ไม่เกิน 2 ชนิด คือ
1. ยาลดอาการ
     1.1 ยาลดไข้ ลดตัวร้อน ลดปวดหัว บรรเทา อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มียาอยู่ 2 ชนิด ที่หาง่ายและไม่เป็นอันตรายอะไร คือ แอสไพริน กับพาราเซตาม่อล กินทีละ 2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน โดยเฉพาะก่อนนอนควรทานนม หรือน้ำข้าวล่วงหน้าซักเล็กน้อย แอสไพริน ในคนบางคน(ประมาณ 1 ใน 1,000) จะทำให้มีอาการแพ้รุนแรงได้ แต่พบบ่อยเหมือนกันที่กินยาเข้าไปแล้วมีอาการปวดที่ท้อง เพราะยานี้เป็นกรด รบกวนกระเพาะได้ จนกระทั้งเลือดออก แต่ส่วนมากไม่เป็นอันตรายอะไรนัก ถ้าหยุดยาเสียทันที ดังนั้นให้ดีควรกินยาหลังกินข้าวทันที และกินน้ำตามไปมากๆอย่างไรก็ดี ถ้าปวดท้องก็หยุดยาทันทีก็แล้วกัน ยาพาราเซตาม่อล ยานี้เมื่อกินเข้าไปไม่มีอาการ แพ้รุนแรงอาจมีเพียง อาการวิงเวียน อาเจียน ใจสั่น หรือ ท้องเดิน แต่น้อยแสนจะน้อย ดังนั้นอย่าวิตก
    1.2 ยาแก้ไอ พวกยาแก้ไอมักจะเป็นชนิดน้ำเชื่อม เขาผสมยาแก้แพ้และขับเสมหะไว้แล้ว อ่านฉลากให้ดี เขาจะบอกไว้เสร็จ ว่ามีตัวยาอะไร แก้อะไรบ้าง ไม่มีอันตรายนอกจากกินเกินขนาดที่เขาระบุไว้ ดังนั้นถ้าไอก็ซื้อกินเองได้
2. ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ
        ปกติหมอ จะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ นอกจากจำเป็นที่จะต้องใช้ ยาปฏิชีวนะ ส่วนมากใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะพวกเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนสำคัญก็คือเชื้อที่ก่อให้เกิดการอักเสบชนิดเฉียบพลัน อันตรายสูงมากๆ ซึ่งถ้าผู้ป่วยหรือญาติรู้จัก สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงและความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ก็พอจะพิจารณาถึงได้ว่า มีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ ตามอาการที่ได้เขียนเล่าไว้แล้ว อย่างไรก็ขอเตือนไว้ว่าโรคต่างๆ นั้น ควรอย่างยิ่งที่ให้ผู้เป็นหมอรักษาหากไม่มีหมอหรือผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถไปถึงหมอได้ จึงจะค่อยคิดหาทางช่วยตนเองก่อน ดีกว่าให้พิการ หรือตายไปโดยไม่ได้ช่วยตัวเองเลย
           ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในที่นี้จะรวม ยาพวกซัลฟา ไว้ด้วยนั้น มีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะทางเคมี และคุณภาพแตกต่างกันไปมาก บางชนิดก็เหมาะที่รักษาโรคชนิดหนึ่ง แต่อีกชนิดก็เหมาะกับโรคอีกประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตามยาปฏิชีวนะที่มีขายในปัจจุบัน มักจะให้ผลในการรักษาครอบคลุมเชื้อโรคได้หลายอย่าง หลายชนิดพร้อมๆ กัน และเท่าที่มีขายในท้องตลาด หาได้ทั่วไป และพอจะนำมาใช้ได้ง่าย ก็มีอยู่ 5-6 ชนิดเท่านั้น
       2.1 ยาจำพวกเพนนิซิลลินชนิดกิน ได้แก่ เพนนิซิลลินวี ใช้ขนาดประมาณ 400,000 ยูนิต วันละ 4 เวลาติดต่อกัน เหมาะที่จะใช้สำหรับพวกที่มี อาการอักเสบเป็นหนอง ข้อที่เสียคือ มีอาการแพ้ได้ และอาการแพ้ถึงตายได้ ดังนั้นควรจะสอบถามให้แน่ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคแพ้อะไรได้ง่ายหรือเปล่า เคยมีประวัติเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังหรือไม่ เคยมีประวัติของตนเองและญาติสนิทพี่น้องที่ป่วยเป็นโรค หอบ หืด เรื้อรัง หรือริดสีดวงจมูกเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพ้ ผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ควรที่จะซื้อ ยาเพ็นนิซิลลิน กินเองนอกจากจะมีหมอคอยแนะนำอยู่ (ราคาตกเม็ดละ 0.75 สตางค์)
      2.2 ยาจำพวกเตตร้าซัยคลีน มีหลายพวก เช่น ออริโอมัยซิน เทอรามัยซิน เตตราซัยคลีน เป็นยาที่มีคุณค่าการรักษาเชื้อโรคกว้างขวางมาก ส่วนมากจะมาเป็นแค็ปซูลสอดสีต่างๆ เม็ดละ 250 มิลลิกรัม ใช้ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 เวลา หลังอาหารและก่อนนอน ตกวันละ 2 กรัม ยาพวกนี้ไม่ทำให้แพ้มากมายหรือถึงตายได้ ควรระวังอยู่บ้าง ในผู้หญิงตั้งท้องโดยเฉพาะในระยะหลังๆ และในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี เพราะอาจทำให้เด็กฟันเหลืองดำและฟันเสียได้ 
   2.3 ยาคลอแรม คือ คลอแรมเฟนิคอล ยาพวกนี้ได้ผลดีมาก สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินอาหาร แต่ก็ได้ประโยชน์สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของระบบอื่นเหมือนกัน เสียที่อันตรายมันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็กอ่อน และคนชราเพราะอาจทำให้กดการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูกได้ ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรใช้เลย แต่สำหรับในกรณีที่ไม่มีโอกาสเลือกอีกแล้ว ก็รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล (แคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม) 4 เวลาหลังอาหาร และก่อนนอน คนกินยานี้ต้องคอยสังเกตร่างกายว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้ารู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่ายให้รีบหยุดยาแล้วเปลี่ยน เป็นยาอื่นๆเสียโดยเร็ว (ราคาตกเม็ดละ 50 สตางค์)
    2.4 ยาแอมพิซิลลิน เป็นพวกเดียวกับ เพนนิซิลลิน แต่สามารถใช้กว้าง ขวางครอบจักรวาลได้มากกว่า และอยากจะแนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้แทนยาปฏิชีวนะอื่นๆ ทุกตัว ยาแอมพิซิลลิน อาจทำแพ้ได้เช่นเดียวกับ ยาพวกเพนนิซิลลิน แต่อัตราแพ้น้อยกว่ากันและความรุนแรงก็น้อยกว่า มักจะทำเป็นรูปแค็ปซูลสองสีต่างๆ กัน ขนาดแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ควรจะกินยาก่อนอาหารสักครึ่งชั่วโมง ยานี้ใช้แทนยาอื่นๆ แทบทุกอย่าง ดังนั้น ควรมีติดไว้ที่บ้านไว้ล่วงหน้าสำหรับคน อยู่ไกลหมอ ไกลยาไม่ควรใช้ในคนที่แพ้อะไรง่ายๆ หรือเคยแพ้ยาพวกเพนนิซิลนั้นมาก่อน 
         2.5 ยาพวกโคไตรม็อก ซาโซล เป็นยาพวกซัลฟาที่ออกฤทธิ์นาน มีคุณภาพและความกว้างขวางของการรักษา เช่นเอมพิซิลลิน แต่ดีกว่าสำหรับโรคทางเดินปัสสาวะและลำไส้ ยาพวกนี้เป็นเม็ดส่วนมากจะมีสีขาว(มียี่ห้อต่างๆเช่นแบคตริม เซปตริม ไบโอตริมฯลฯ) วิธีกินยา คือ กินยา 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น โดยให้ห่างกันไม่น้อย 8 ชั่วโมง ขอย้ำอีกครั้งว่า การใช้ยานั้นอันตรายอาจเกิดได้เสมอ ฉะนั้นที่แนะนำมาสำหรับโรคต่างๆ ของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ เฉพาะจำเป็นถึงจะต้องใช้เท่านั้น ถ้าพอไปหาหมอได้หรือรอเวลาได้ปรึกษาหมอจะดีกว่ามาก
ที่มา
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 4