วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เท้ามีกลิ่น...ทำลายบุคลิก

-->
เท้ามีกลิ่น...ทำลายบุคลิก

ฤดูฝนอากาศอับชื้น เท้าของคนเรามักจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย อีกทั้งเท้าเป็น "อวัยวะที่โลกลืม" จริงๆ เพราะมีน้อยคนที่จะดูแลเอาใจใส่เท้าอย่างถูกวิธีและทะนุถนอม


เท้า... ดูแลอย่างไร

การดูแลเท้าของตนเองนั้น ปฏิบัติไม่ยาก นั่นคือการเลือกสวมรองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะ แต่งานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า เด็กจำนวนมากสวมรองเท้าขนาดที่เล็กเกินไป มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงข้อมูลว่าราวครึ่งหนึ่งของเด็กหญิงวัยเรียนจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับเท้าเมื่ออายุได้ เพียง ๑๐ ขวบ พบความผิดปกติของเท้าหลายต่อหลาย อย่าง เช่น เล็บขบ เล็บผิดรูปร่าง ตาปลา หรือกระดูกคด ล้วนเกิดจากการใส่รองเท้าที่มีขนาดไม่เหมาะสมทั้งนั้น การดูแลเท้านั้นรวมไปถึงการล้างเท้าทุกวัน ยกเว้นในกรณีที่ผิวหนังเท้าแห้งและแตกอยู่แล้ว หลังจากล้างเท้าไม่ควรสวมรองเท้าและถุงเท้าทันที ควรรอให้เท้าแห้งสนิทก่อนจึงค่อยสวมรองเท้าอาจใช้ผ้าขนหนูซับเท้า หรือใช้พัดลมเป่า เพื่อให้เท้าแห้งเร็วขึ้น ทั้งนี้เพราะเท้าที่เปียกชื้นจะมีการติดเชื้อราที่เรียกว่า "ฮ่องกงฟุต"  ได้ง่าย เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมากมาย ทำให้เหงื่อออกมาก ถ้าไม่หมั่นทำความสะอาดเท้าและรองเท้าจะส่งกลิ่นตุๆ ไปได้ไกล ในขณะเดียวกันผิวหนังเท้ามีต่อมไขมันน้อย ฝ่าเท้าจึงแห้งและแตกง่าย ในกรณีนี้ต้องใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทา

เท้า...มีปัญหาอะไรบ้าง

ส้นเท้าแตก อาจต้องดูแลเท้าเป็นพิเศษระหว่างการอาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อผิวหนังนุ่มตัวจากการสัมผัสน้ำแล้ว ให้ใช้หินขัดขี้ไคลค่อยๆ ถูเท้าที่มีหนังหนาตัวขึ้นกว่าปกติ หลังจากนั้นให้ทาครีมให้ความชุ่มชื้น นวดบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า จนครีมซึมซาบเข้าไปนั่นแหละ วิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาส้นเท้าแตกได้ครับ 



เหงื่อออกมาก สำหรับเท้าที่มีเหงื่อออกมากควรใช้แป้งฝุ่นโรยก็ช่วยได้ เลือกใช้แป้งทั่วไป หรือแป้งเฉพาะ สำหรับเท้าที่เรียกว่า foot powder ก็ได้ แป้งชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแป้งฝุ่นทาตัว เพียงแต่เนื้อแป้งอาจหนากว่าและดูดซึมน้ำได้ดีกว่า การโรยแป้งทำให้ผิวที่เท้าแห้ง ไม่เฉอะแฉะ จึงลดอาการระคายเคือง และช่วยให้เกิดความรู้สึกเย็นสบาย ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวันและควรใส่รองเท้าสลับวันเว้นวัน คู่ใดไม่ได้ใส่ก็ผึ่งเสียให้แห้ง



เล็บขบ คนที่สวมรองเท้าคับเกินไปและตัดเล็บผิดวิธี มักจะเกิดเล็บขบตามมา แรกๆ เริ่มจากเล็บที่งอกขึ้นมาใหม่อาจแทงผิวหนังข้างๆ เล็บ ทำให้เกิดการอักเสบบวมแดง การตัดเล็บเท้าที่ถูกต้องคือตัดเป็นเส้นตรง


เท้ามีกลิ่น...เหม็น

นอกจากนี้ พบว่าคนไทยหลายคนเป็นโรคเท้าเหม็น (pitted keratolysis) โรคเท้าเหม็นนี้ไม่ใช่โรคใหม่ พบมานาน ๙๐ ปีแล้ว พบบ่อยที่สุดในผู้ที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำในหน้าฝน เมื่อผิวหนังชั้นขี้ไคลของฝ่าเท้าเปียกชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนองจะทำให้ผิวหนังยุ่ยและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคเท้าเหม็นพบมากในประเทศเขตร้อน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย เพราะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา อาการสำคัญของโรคนี้ที่พบบ่อยสุดถึงร้อยละ ๙๐ คือ เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก นับเป็นการทำลายบุคลิกภาพ อาการรองลงมาที่พบร้อยละ ๗๐ คือ เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยคือ ร้อยละ ๘ ลักษณะของโรคเท้าเหม็นจะเห็นเป็นหลุมเล็กๆ ที่ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ ดูคล้ายแผนที่ มักพบหลุมเหล่านี้ตามฝ่าเท้าที่รับน้ำหนัก และง่ามนิ้วเท้า ถ้าขูดผิวหนังและย้อมเชื้อจะพบเชื้อแบคทีเรียติดสีน้ำเงิน โรคนี้ดูจากลักษณะภายนอกก็บอกได้



การป้องกัน ต้องระวังให้เท้าแห้งอยู่เสมอ อาจใช้แป้งฝุ่นฆ่าเชื้อโรยบ้าง


การรักษา ยารักษาโรคสิวที่ใช้กันบ่อยคือ เบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide)  ก็นำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ผลดี นอกจากนั้นยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อราชนิดทาก็รักษาโรคเท้าเหม็นได้ พบว่าส่วนหนึ่งของคนที่เหงื่อออกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้ามาก จะมีลักษณะตื่นเต้น ตกใจง่าย วิตกกังวล และรู้สึกไม่มั่นคง บางครั้งหากเปลี่ยนอุปนิสัยให้เยือกเย็นและสงบขึ้น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าจะดีขึ้น ถ้าไม่เคยตรวจสุขภาพก็แนะนำให้ไปพบอายุรแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายทั่วไป เพราะโรคบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้เหงื่อออกมากได้ 

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 
326
นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร

โรคไต หาใช่ โรคตาย

-->
‘โรคไต’ หาใช่ ‘โรคตาย’


โรคภัยไข้เจ็บเป็นโรคที่คนทั่วไปสนใจอยากรู้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว โรคไตก็เช่นเดียวกัน มีผู้ให้ความสนใจพูดโรคไตกันต่างๆ บางครั้งทำให้เกิดภาพที่น่าสะพรึงกลัวจนบางคนได้ยินว่าโรคไตก็คิดว่าเป็น “โรคตาย” เลยทีเดียว โรคไตน่ากลัวจริงๆ อย่างนั้นเชียวหรือ ลองมาทำความรู้จักโรคไตกันดีไหม



ชนิดของโรคไต
โรคไตมีมากมายหลายชนิด บางชนิดไม่มีอาการ บางชนิดมีอาการมาก บางชนิดปฏิบัติตนให้ถูกต้องก็หายโดยไม่ต้องใช้ยา บางชนิดก็ต้องกินยาตลอดชีวิต เนื้อไตจะถูกทำลายมากน้อยแค่ไหนบอกไม่ได้แน่นอนจากอาการ แต่บอกได้จากการตรวจดูว่าเป็นโรคไตชนิดใด ดังนั้น การปฏิบัติตนและการรักษาก็ย่อมต่างกัน เพราะโรคไตบางชนิดหายเองได้ อาจกินยาหรือไม่กินยา รักษาหรือไม่รักษาก็หาย แต่ถ้านำยาที่เข้าใจว่าดีมาใช้กับโรคไตอีกชนิดหนึ่งก็จะเกิดอันตรายได้
ชนิดแรก ที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่เป็นน้อยกว่าเด็กมาก คือ โรคที่หลอดเลือดฝอยของไตอักเสบหลังการติดเชื้อที่ระบบอื่นในร่างกาย การติดเชื้อที่ระบบอื่นที่พบบ่อย คือ ที่คอ ทอนซิล และผิวหนัง ผู้ที่เป็นจะมีอาการเจ็บคออย่างมาก หรือเป็นฝีอักเสบที่ผิวหนังนำมาก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ บางครั้งอาการดังกล่าวหายไปแล้ว 2-3 วัน จึงมีอาการทางไต คือ ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะขุ่นเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อ และเริ่มบวม เมื่อตรวจร่างกาย จะพบความดันโลหิตสูงขึ้น และอาจมีน้ำและเกลือคั่งในปอดได้ ทำให้อึดอัดจนนอนไม่ลง
ในช่วงที่บวมนี้ควรต้องได้รับการรักษา และควรควบคุมอาหาร ไม่ควรกินของเค็ม โรคนี้ไตจะหายเป็นปกติได้ แต่การป้องกันก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำได้โดยที่ถ้าคอและทอนซิลอักเสบต้องรีบรักษา ส่วนทางผิวหนังป้องกันโดยไม่แกะเกาผิวหนังหรือปล่อยให้เป็นแผลสกปรก
ชนิดที่สอง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ โรคที่หลอดเลือดฝอยของไตอักเสบเช่นกัน แต่เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นจะบวมมาก บางครั้งมากกว่าชนิดแรกอีก การเปลี่ยนแปลงของเนื้อไตมีได้ต่างๆ กันหลายอย่าง แพทย์จึงมักต้องทำการตรวจเนื้อไตด้วย เพราะการรักษาและการพยากรณ์โรคต่างกัน บางชนิดหายเองได้ บางชนิดให้ยาแล้วได้ผลดี ไม่บวมพุพอง และโรคหายขาดได้ บางชนิดให้ยาแล้วไม่ได้ผล ต้องรักษาตามอาการด้วยยาขับปัสสาวะเท่านั้น
ชนิดที่สาม เป็นโรคไตที่เกิดร่วมกับโรคระบบอื่น ซึ่งมีหลายชนิดจะกล่าวถึงบางชนิดที่พบบ่อยในบ้านเราเท่านั้น คือ โรคเบาหวาน และโรคเอสแอลอี (SLE-Systemic Lupus Erythematosus)
โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่คนทั่วไปคุ้นเคยดี เมื่อเป็นเบาหวานนานๆ จะเกิดโรคที่ไตด้วย แต่ถ้าควบคุมโรคเบาหวานได้ดี การทำลายเนื้อไตจะเกิดขึ้นช้าและไม่รุนแรง ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรกินยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดแม้ไม่มีอาการในระยะแรก
ส่วนโรคเอสแอลอี เป็นโรคที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในประเทศไทยพบในเพศชายได้ไม่น้อย และมักเป็นรุนแรง นอกจากอาการบวมแล้วยังมีไข้ ปวดบวมแดง และร้อนตามข้อต่างๆ มีผื่นแดงตามตัว โดยเฉพาะที่โหนกแก้มทั้งสองข้าง ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้ไม่คัน ถูกแดดจะเห่อมากขึ้นและแสบ อาจซีด ผมร่วง และถ้าเป็นมากจะมีอาการทางสมอง หัวใจ ปอด และลำไส้ด้วย โรคนี้ควรต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต
ชนิดที่สี่ คือ โรคไตวาย ซึ่งเป็นชนิดที่คนทั่วไปเข้าใจผิด มักคิดว่าโรคไตทั้งหมดนี้ ที่จริงแล้วโรคไตวายก็ยังมีมากกว่าหนึ่งชนิด คือ โรคไตวายชนิดฉับพลัน และชนิดเรื้อรัง ซึ่งต่างกันมาก เพราะชนิดฉับพลันนั้นหายขาดได้และมักป้องกันได้ ส่วนชนิดเรื้อรังนั้นมักเป็นต่อไปจนในที่สุดไตเสียไตทั้งสองข้าง
โรคไตวายชนิดฉับพลัน จะมีอาการปัสสาวะน้อยลงทันที บวมและมีอาการจากของเสียคั่งในร่างกาย คือเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และในที่สุดจะซึมและชัก บางรายถ้าไม่รุนแรงก็ไม่ต้องการการรักษาพิเศษ เพียงแต่ควบคุมอาหารและน้ำดื่ม ไตก็ฟื้นเองในที่สุด แต่บางรายที่ไม่มีปัสสาวะนานหลายวันอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ เช่น ล้างช่องท้อง หรือทำไตเทียม สาเหตุมักเกิดจากยา สารพิษ การตกเลือด และช็อก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะยาจึงไม่ควรใช้ยาโดยไม่รู้จักยานั้นอย่างดีทั้งในด้านคุณและโทษ
โรคไตวายเรื้อรัง ในระยะแรกอาการอาจไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องควบคุมอาหารและกินยา ในระยะท้ายจะมีอาการจากของเสียคั่งในร่างกายเช่นกันและอาจมีอาการคันด้วย
การรักษาและการควบคุมอาหารและน้ำดื่มขึ้นกับระยะของโรค จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ควรทำตามอย่างผู้อื่น เพราะอาจเป็นคนละระยะกัน และการเปลี่ยนแปลงของสารกรดและเกลือในเลือดอาจแตกต่างกัน การรักษาด้วยยาจะได้ผลอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อไตเสียหมดทั้งสองข้าง ต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ



จริงหรือที่โรคไตทำให้บวม

ถ้าไม่มีอาการบวมก็เป็นโรคไตได้ ซึ่งจัดเป็นโรคไตชนิดที่สองที่กล่าวไปแล้ว คือ โรคหลอดเลือดฝอย ของไตอักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุอาจบวมหรือไม่ก็ได้ อาการที่พบ คือ มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ มีไข่ขาวในปัสสาวะหรือมีความดันโลหิตสูง พวกนี้จะทราบได้ด้วยการตรวจร่างกาย และการตรวจปัสสาวะและเลือด
โรคไตชนิดอื่นที่ไม่บวม ได้แก่ โรคติดเชื้ออักเสบที่ไต โรคไตเป็นถุงน้ำ โรคไตจากความดันโลหิตสูง และโรคนิ่วในไต
โรคติดเชื้ออักเสบที่ไต มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลัง ปัสสาวะแสบ ขัดบ่อยๆ พวกนี้ต้องรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ ส่วนใหญ่เป็นในผู้หญิง ถ้าพบในผู้ชายต้องตรวจว่าพบความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะหรือไม่
โรคไตเป็นถุงน้ำ โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์ พบทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เพศชายมักมีอาการรุนแรงและไตวายเร็วกว่า อาการที่พบมีปัสสาวะเป็นสีเลือด มีก้อนโตในท้องทั้งสองข้าง (จากไตที่โตขึ้น) ปวดหลัง และมีอาการติดเชื้ออักเสบที่ไตได้ง่าย โรคนี้ไม่มีการรักษาพิเศษ แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมความดันโลหิตให้ได้ เพื่อชะลอไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายเร็วขึ้น
โรคไตจากความดันโลหิตสูง มักไม่มีอาการ แต่จะทำให้เนื้อไตเสียไปเรื่อยๆ ทีละน้อย การปฏิบัติตนของผู้เป็นโรคนี้ คือ ควรต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการ ถ้าควบคุมความดันโลหิตให้ปกติได้ เพราะสามารถป้องกันโรคที่ไตได้
โรคนิ่วในไต ถ้าก้อนนิ่วอยู่ในเนื้อนิ่วอาจไม่มีอาการหรืออาจมีปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าก้อนนิ่วหลุดมาในท่อไตจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง และปวดร้าวไปที่หน้าขา ปัสสาวะจะเป็นสีเลือด ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดเองได้ ถ้าก้อนใหญ่อาจต้องผ่าตัดหรือทำการสลายนิ่ว ผู้ที่เป็นนิ่วควรได้รับการตรวจหาสาเหตุด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก
รายละเอียดเกี่ยวกับโรคไตยังมีอีกมาก ทั้งการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การทำไตเทียม และเปลี่ยนไต สิ่งสำคัญที่ควรทราบ คือ เมื่อไม่สบายเป็นโรคใดก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การคิดพิจารณาและปฏิบัติตามเหตุและผล กำลังใจถือแป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 
174
นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์

เบาหวานกับการออกกำลังกาย

-->
การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริมในการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน คือเป็น ๑ ใน ๓ ส่วนของการรักษา ได้แก่ การควบคุมอาหาร การรักษาด้วยยา และการออกกำลังกาย 

        การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการวิจัยจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้ ทำให้สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปใช้งานในเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ตามปกติ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ 



ผู้ป่วยเบาหวานกับการออกกำลังกาย 

        ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๑ เป็นเบาหวานที่ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลิน มักเกิดตั้งแต่อายุน้อยและต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน ดังนั้นถ้าขาดอินซูลินระดับน้ำตาลในเลือดจะสูง เมื่อออกกำลังกายจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น เกิดภาวะเป็นกรดจากการมีคีโตนในเลือดสูงซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 
         ถ้าฉีดอินซูลินบริเวณหน้าขาหรือแขนที่มีการเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย การดูดซึมอินซูลินจากใต้ผิวหนังจะเร็วขึ้น จึงเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ หรือถ้าออกกำลังขณะที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดอินซูลินบริเวณที่ใช้อวัยวะนั้นๆ ในการออกกำลังกาย ไม่ควรออกกำลังกายเวลาอินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด และควรตรวจระดับน้ำตาลก่อนและหลังการออกกำลังกาย
         ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒ เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน(ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลงร่วมกับการหลั่งของอินซูลินน้อยลง) การออกกำลังกายทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง (มีความไวต่ออินซูลินมากขึ้น) 
         การออกกำลังของผู้ป่วยเบาหวาน ต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยอาจมีการสูญเสียความรู้สึกที่มือและเท้า จึงทำให้เกิดบาดแผลได้ง่ายโดยเฉพาะที่บริเวณเท้า ผู้ป่วยต้องหมั่นตรวจเท้าตนเองและสวมถุงเท้าทุกครั้ง รวมถึงการเลือกรองเท้าให้มีความพอดีกับเท้าและเหมาะสมกับชนิดกีฬา ดังนั้น การป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
  
การบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ขณะออกกำลังกาย 
• การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ 
• ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ 
• บาดเจ็บของเท้าโดยเฉพาะ ถ้ามีหลอดเลือดและเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณเท้าผิดปกติ 
• มีเลือดออกในลูกตาเพิ่มขึ้น 
• มีการเสียเหงื่อ เสียน้ำ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะของผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต 
• ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือต่ำลงมากเกินไป



แนวทางออกกำลังกายอย่างปลอดภัยของผู้ป่วยเบาหวาน

• ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดจากแพทย์ เพื่อจัดโปรแกรมการออกกำลังกาย และให้คำแนะนำการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 

• ควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับการรักษาทางยา และการฉีดอินซูลินจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง 

• ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปก่อนการออกกำลังกาย 
คือไม่เกิน ๒๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร (เบาหวานชนิด ๑) และไม่เกิน ๓๐๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร
(เบาหวานชนิดที่ ๒) 
• เรียนรู้อาการ วิธีป้องกัน และแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำ เมื่อออกกำลังกาย 
• ตรวจดูเท้า ก่อน/หลัง การออกกำลังกายทุกครั้ง 
• ใส่รองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย 
• ควรออกกำลังกายสถานที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 



อาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่ วิงเวียน เหงื่อออก ตัวสั่นอ่อนเพลีย ตาพร่ามัว

         วิธีแก้ไข หยุดพักและควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด แต่ถ้าไม่สามารถตรวจเลือดได้ ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำตาลก้อน ลูกอม หรือให้ดื่มน้ำเพิ่ม

วิธีป้องกัน 

๑. ตรวจเลือด ก่อนและหลังการออกกำลังกาย 
๒. เตรียมน้ำผลไม้ หรือพกลูกอม ที่กินได้ง่าย 
๓. ถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้มีการฉีดอินซูลินลดลงประมาณร้อยละ หรือเพิ่มปริมาณอาหารและมีอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย 



ห้ามออกกำลังกรณีดังต่อไปนี้ 

๑. เบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ 

๒. ความดันโลหิตขณะพักสูงเกิน ๒๐๐/๑๐๐ มม.ปรอท 

๓. มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ยังควบคุมไม่ได้ 
๔. มีอาการเจ็บหน้าอก หรือโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังควบคุมไม่ได้ 

เลือกชนิดการออกกำลังกาย 
ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถออกกำลังได้เกือบทุกคน แต่ต้องเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสม โดยพิจารณาจาก อายุ โรคประจำตัว ความถนัด
• ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า ข้อเท้าหรือเท้าควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีแรงกระแทก เช่น การวิ่ง กระโดดเชือก ควรจะออกกำลังโดยการว่ายน้ำ เดินในน้ำ รำมวยจีน หรือทำกายบริหารในท่านั่งหรือยืน 
• ผู้ที่เป็นปลายประสาทอักเสบ มีอาการชาเท้าไม่ควรที่จะวิ่งหรือกระโดด ควรจะออกกำลังกายโดยการขี่จักรยาน เพื่อเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิตและกระตุ้นปลายประสาท
• ผู้ที่เบาหวานขึ้นตาให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่ใช้แรงต้านมาก เช่น การยกน้ำหนัก หรือโยคะบางท่า 
• ผู้ที่มีโรคหัวใจควรจะพบแพทย์ก่อนออกกำลังกาย ไม่ควรออกกำลังกายชนิดที่ออกแรงมาก เช่น การยกน้ำหนัก การวิ่งเร็ว

รูปแบบและกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม 
• ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ ๓-๕ ครั้ง ควรจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือทำต่อเนื่องครั้งละ ๒๐-๔๐ นาที   
• ควรเริ่มการออกกำลังแบบเบาก่อน และเพิ่มเป็นปานกลาง เพื่อให้ร่างกายได้มีการปรับตัว ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักหรือในรูปแบบที่มีแรงต้านมากๆ
• ควรเน้นการออกกำลังแบบแอโรบิก คือมีการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแรงกระแทก หรือแรงกระแทกต่ำ เช่น การเดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ รำมวยจีน โยคะ กายบริหาร
• ควรออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบประสาทควบคู่ไปด้วยกัน ตัวอย่างกิจกรรม เช่น กายบริหารแบบมีแรงต้านต่ำ การออกแรงดึงยางยืดเนื่องจากขณะออกแรงสายยางมีปฏิกิริยาต้านกลับ (stress reflex) ส่งผลให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อพัฒนาไปพร้อมกัน

รูปแบบและกิจกรรมการออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม 
• กิจกรรมแรงกระแทกและแรงต้านสูง เช่น กระโดดเชือก วิ่งเร็ว ก้าวขึ้น-ลงสเต็ป  ยกน้ำหนัก



ขั้นตอนของการออกกำลังกายที่ถูกวิธี  ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน ดังนี้

๑. ขั้นตอนการอบอุ่นร่างกาย ใช้เวลา ๕-๑๐ นาที 

๒. ขั้นตอนการออกกำลังกาย ใช้เวลา ๑๐-๓๐ นาที  

๓. ขั้นตอนการผ่อนคลาย ใช้เวลา ๕-๑๐ นาที 
         การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะรวมอยู่ในช่วงการอบอุ่นร่างกายและช่วงการผ่อนคลาย  (หากกิจกรรมใช้เวลานานเกิน ๑ ชั่วโมง อาจเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นข้อต่อ และกล้ามเนื้อได้ง่ายควรหลีกเลี่ยง)
         การยืดเหยียดกล้ามเนื้อมีความสำคัญมากในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะข้อติดมากกว่าบุคลทั่วไป กล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในการฝึกยืดเหยียด (stretching) การฝึกยืดเหยียดที่ถูกวิธีควรปฏิบัติอย่างช้าๆ ไม่กระตุกกระชาก และให้ดีควรค้างไว้ในมุมที่ทำได้ประมาณ ๑๐ วินาที ควรยืดในทุกมัดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะมัดกล้ามเนื้อที่ใช้ออกกำลังกาย 
         นอกจากจะป้องกันข้อติดแล้วยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บ และสลายกรดแล็กติกที่คั่งค้างอยู่บริเวณกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่รู้สึกปวดเมื่อยภายหลังการออกกำลังกายหากมีการผ่อนคลาย (cool down) ที่ถูกวิธี 
         อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของผู้ป่วยเบาหวาน 
         สิ่งสำคัญคือการรู้จักตนเอง การดูแลควบคุมตนเองด้านโภชนาการ การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นสิ่งสำคัญมาก

ที่มา: 
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 
379

นักเขียนหมอชาวบ้าน : 
อาจารย์ณรงค์ จันทร์หอม